PUBLIC HEALTH

แอสตร้าเซนเนก้า เผยกลุ่มเปราะบางกว่า 500,000 คนยังเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการรุนแรง

แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ เปิดเผยถึงผลสำรวจในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง (607) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรราว 500,000 คนในประเทศไทย พบว่า ราว 60% ของกลุ่มตัวอย่าง ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในด้านสังคมและการทำงาน แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้วก็ตาม เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสู้กับเชื้อไวรัส ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 92% ชี้ว่าต้องการทราบข้อมูลที่มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางอื่นในการป้องกันโควิด-19

นายโรมัน รามอส ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้า มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยยกระดับการดูแลสุขภาวะให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมถึงทางเลือกอื่น ๆ ในการป้องกัน และการรักษา เพิ่มประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโควิด-19

จากผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า 40-44% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 และมีประวัติเคยรับวัคซีนมาก่อน คือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แม้จะเคยรับวัคซีนมาแล้วก็ตาม ประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมีแนวโน้มสูงที่จะเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU) รวมถึงมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะรักษาตัว

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทย ยังเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทยกลับพบว่า กว่า 87% เชื่อว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว ในขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างถึง 92% ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางอื่นในการป้องกันโควิด-19

ผลการสำรวจดังกล่าว ตอกย้ำถึงความสำคัญของการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรดังกล่าว ตามแคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” จากแอสตร้าเซนเนก้า การส่งเสริมความตระหนักรู้ในวงกว้างจะช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพ

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปหากได้รับเชื้อ ดังนั้น หากต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต ต้องให้ความสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

1.กลุ่มเสี่ยงสูง (607) ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

2.ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางหน้าท้อง

3.ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

4.ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ

5.ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

6.ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีซีดีสี่น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

7.ผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรได้รับยา

Related Posts

Send this to a friend