PUBLIC HEALTH

คาด มกราคมนี้ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะสูงขึ้น แต่ไม่ป่วยหนัก-เสียชีวิต

มกราฯ นี้ ยอดผู้ติดเชื้อ ‘โอมิครอน’ จะสูงขึ้น แต่ไม่ป่วยหนัก-เสียชีวิต กรมควบคุมโรค ย้ำประชาชนเลี่ยงจุดเสี่ยง เฝ้าสังเกตอาการ เน้น WFH หลังพบคลัสเตอร์กระจายหลายจังหวัดหลังปีใหม่

วันนี้ (4 มกราคม 2565) เวลา 13:00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสายพันธุ์โอมิครอน เป็นวันแรกของปี 2565 หลังเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสรุปได้ว่า

  1. การแพร่ระบาดของโอมิครอน จะค่อย ๆ ส่งผลให้จำนวนรวมของการติดเชื้อในประเทศมากขึ้น เราอาจจะเห็นตัวเลขเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตวันนี้ คือคนที่ติดเชื้อจาก 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ตัวโอมิครอนเองไม่ได้รุนแรงมาก
  2. การติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้า (70-80%) ต้องระวังกลุ่ม 608 ให้มาก มีโอกาสป่วยและเสียชีวิตได้
  3. การตรวจสายพันธุ์จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ไม่ตรวจทุกราย
  4. มีข้อมูลการศึกษาว่าผู้ติดเชื้อโอมิครอนบางส่วนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) เชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับวัคซีน

“หลักการใหญ่ในการป้องกันการแพร่เชื้อยังเหมือนเดิม ใครยังไม่รับวัคซีนก็ให้ไปรับ เพราะการฉีดวัคซีนยังเป็นประโยชน์อยู่ ไม่ว่าสายพันธุ์ไหน การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ก็สามารถกันได้ ขอให้ทุกท่านอดทนกันอีกนิด” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกว่า ส่วนใหญ่ระบาดในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป แต่ผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์โอมิครอน ที่ทั้งสองเป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้

ตั้งแต่มีการปิดระบบ Test & Go โดยจำกัดช่องทางการเดินเข้าประเทศไทยเหลือเพียง Sandbox ของจังหวัด และระบบกักตัว Quarantine นพ.โอภาส ระบุว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนจะให้ความร่วมมือ เพราะความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค จุดไหนเป็นจุดเสี่ยงก็ขอความร่วมมือพี่น้อง งด เว้น ห้าม ไปยังจุดเสี่ยงดังกล่าว เพราะมกราคมมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแน่นอน แต่เราจะพยายามชะลอการระบาดให้ได้มากที่สุด

“ช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา มีการเฉลิมฉลองและสังสรรค์ในหลายพื้นที่ แต่ที่น่าเป็นกังวล คือ ร้านอาหารกึ่งผับ หรือผับบาร์ คาราโอเกะที่เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร แต่ไม่ทำตามมาตรการ COVID free setting เป็นระบบปิด ระบายอากาศไม่ดี คนแออัดเพราะไม่จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน ไม่เว้นระยะห่าง อีกทั้งหลายร้านยังส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการแสดงดนตรีสด บางร้านปล่อยให้เล่นการพนัน จึงทำให้พบคลัสเตอร์ (Cluster) จากร้านอาหารในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก” นพ.โอภาส กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มเติม เช่น โรงงาน แคมป์คนงาน สถานประกอบการ สถานศึกษา ตลาด พิธีกรรมทางศาสนาอย่างงานศพและงานแต่งงาน จังหวัดที่พบ ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชลบุรี ปราจีนบุรี สงขลา ภูเก็ต และยะลา ซึ่ง นพ.โอภาส เน้นย้ำว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังติดตามสถานประกอบการอย่างเข้มงวด หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

“คลัสเตอร์ที่พบและน่ากังวลอย่างมาก คือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับ จังหวัด อุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อ 535 คน สุ่มตรวจ 12 คน พบสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ร้านอาหารจังหวัดชลบุรี พบผู้ติดเชื้อสะสม 163 ราย รวมทั้งคลัสเตอร์จังหวัดขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อวันปีใหม่ 232 ราย” นพ.โอภาส ชี้แจง

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยง ควรสังเกตอาการและเฝ้าระวัง 14 วัน หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มทำกิจกรรม พูดคุย รับประทานอาหาร ไม่ไปสถานที่เสี่ยง ขอให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบริษัทต่าง ๆ ให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) 14 วัน หรือให้จำกัดการทำงานแบ่งเป็นช่วงเวลา หากต้องกลับไปทำงานขอให้ใช้ชุดตรวจการติดเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าทำงาน ในสัปดาห์แรกให้ตรวจ ATK 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 วัน

“คนที่มีอาการหรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อ ให้ตรวจด้วย ATK โดยพิจารณาความเสี่ยง เช่น มีไข้ต่ำๆ ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ กรณีผลตรวจเป็นบวกให้กักตัวและงดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่างสวมหน้ากากตลอดเวลา แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้งถุงใส่ขยะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันทีโดยผู้ที่สิทธิบัตรทอง ให้โทรแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ส่วนสิทธิประกันสังคมให้โทรไปที่สายด่วน 1506 กด 6 กรณีต้องการกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัด โทร. 1330 กด 15 หากเป็นผู้ที่สมัครใจแยกกักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน (Home isolation) ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เมื่อมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส ยืนยันว่า “วัคซีนมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ถ้าท่านใดมีผู้สูงอายุ ผู้อาวุโส คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ลูกหลานช่วยพาไปฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่านด้วย ถ้าเชื้อมันอ่อนลง คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ก็จะติดเชื้อได้ ไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต ระบบสาธารณสุขก็จะรองรับได้ มียารักษา และมีองค์ความรู้ สิ่งที่ผ่านมา 2 ปี เราได้เรียนรู้ว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่เชื้อได้เร็ว ติดง่ายขึ้น แต่อาการน้อย ไม่รุนแรง จึงเน้นย้ำให้เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น”

ส่วนการพิจารณาปรับลดมาตรการ อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า เบื้องต้นต้องดูสัก 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน คือ ประเมิน 2 สัปดาห์แรกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นสูงเร็วหรือไม่ ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ศบค.

Related Posts

Send this to a friend