PUBLIC HEALTH

WHO ห่วงขยะโควิด เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกปรับปรุงกระบวนการกำจัดขยะ

WHO แสดงความวิตกปัญหาขยะโควิด เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกปรับปรุงกระบวนการกำจัดขยะทางการแพทย์

องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความวิตกกังวลต่อปัญหาขยะที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนรวมกันหลายแสนตันทั่วโลกว่า จะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เป็นขยะทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยา ขวดบรรจุวัคซีน ชุดตรวจหาเชื้อ ซึ่งจำนวนนี้มีบางส่วนที่อาจปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานานบนพื้นผิววัตถุ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่เก็บขยะทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน จะมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง เพราะเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ ขณะที่แมลงต่างๆ ก็อาจเป็นพาหะนำเชื้อจากขยะทางการแพทย์เหล่านั้นมาสู่ชุมชนได้เช่นกัน

องค์การอนามัยโลกพบว่า ระหว่างเดือน มี.ค. 2020 – พ.ย. 2021 มีการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อยู่ที่ประมาณ 87,000 ตัน เพื่อจัดส่งไปยังประเทศต่าง ๆ คาดว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่นี้ จะกลายเป็นของเสีย ส่วนชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกกว่า 140 ล้านชุด จะทำให้เกิดขยะพลาสติกถึง 2,600 ตัน ขยะเคมีอีก 731,000 ลิตร ส่วนน้ำยาตรวจเชื้อและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีมากกว่า 8 พันล้านโดสทั่วโลก จะทำให้เกิดขยะทางการแพทย์จากเข็มหลอดฉีดยา เข็มฉีดยา และกล่องนิรภัย อีกกว่า 144,000 ตัน

องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เร่งปรับปรุงกระบวนการกำจัดขยะทางการแพทย์ และลงทุนเพื่อลดการใช้วัสดุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง มาเป็นวัสดุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้

Related Posts

Send this to a friend