KNOWLEDGE

กสศ. ห่วง โควิด-19 ทำเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาหลักหมื่น ไม่รวมปัญหาการเรียนถดถอย ทุโภชนาการ และปัญหาอื่นๆ

กังวลหากมีการระบาดระลอก 2 จะสร้างความเสียหายอย่างหนัก เร่งจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่องจำนวนรวม 1.4 พันล้านบาท โอนผ่าน prompt pay คนละ 2,000 บาท ช่วงเดือน กรกฎาคมนี้

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และธนาคารโลก ประจำสำนักงานประเทศไทย จัดเวทีเสวนา Equity Forum จับชีพจรความเสมอภาคทางการศึกษารับเปิดเทอม “สู้วิกฤตให้น้องได้กลับโรงเรียน” ร่วมกันมองปัญหา และหาทางออก ป้องกันการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากวิกฤต โควิด-19 โดยมี ดร.ดิลกะ ลัทธิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย ดร.ภูมิศรัณย์   ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. ร่วมเสวนา

ดร.ภูมิศรัณย์   ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยยังโชคดีที่ช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ปิดเทอมอยู่ ทำให้ไม่ต้องหยุดเรียนกลางภาคเหมือนกับประเทศอื่น แต่อย่างไรก็ตามการปิดภาคเรียนที่ยาวนานกว่าปกติ ได้ส่งผลกระทบใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่

  • ผลกระทบจากการขาดเรียน (Learning Loss) เนื่องจากการที่ต้องอยู่บ้านนานๆ ทำให้ความรู้ของเด็กถดถอยลง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกล หรือเรียนออนไลน์ได้ โดยคาดว่าเมื่อเปิดเทอม เด็กไทยจะมีระดับการไม่สามารถอ่านเขียนในระดับใช้งานได้สูงขึ้นกว่าเดิม (ซึ่งปัจจุบันระดับการไม่สามารถอ่านเขียนของไทยก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่แล้ว)
  • ผลต่อโภชนาการและสุขภาพ ทั้งด้านร่างกายจากการขาดอาหาร และจิตใจจากการไม่ได้ไปเจอเพื่อน
  • ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่มีความลำบากในการดำรงชีวิต มีรายได้ลดลง ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และบางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

และคาดการณ์ว่าจากสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้นักเรียนมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการเรียน โดยผู้ที่ขาดแคลนทรัพยากรมีคะแนนลดลง ผู้ที่เข้าถึงมีคะแนนสูงขึ้น ต่างจากประเทศที่มีความเสมอภาคทางการศึกษาสูงที่นักเรียนทุกคนจะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

ดร.ภูมิศรันย์ ยังได้กล่าวถึงแนวทางการตอบสนองต่อ COVID-19 ว่า เมื่อมีการเปิดเทอมใหม่ ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลเพื่อรองรับนักเรียนที่จะกลับเข้ามาในโรงเรียนให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับนักเรียนมากขึ้น และเตรียมความพร้อมสำหรับทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนด้วยตนเองที่บ้าน โดยอาจมีระบบการช่วยเหลือของอาสามัครเพื่อการศึกษา ที่อาจเป็นคนในชุมชน หรือพี่ช่วยน้องก็ได้เช่นกัน ควบคู่ไปกับการสร้างระบบการสื่อสาร ระบบติดตาม และการใช้เงินอุดหนุนแบบมีเป้าหมายเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกด้วย

คาดการณ์สถานการณ์ประเทศไทยหลังโควิด-19 กลุ่มที่เข้าถึงจะมีคะแนนสูงขึ้น และเด็กที่ขาดแคลนทรัพยากรจะมีคะแนนลดลง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในสังกัด สพฐ.ตชด.และอปท.จำนวน 753,997 คนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันในระหว่างที่ดำเนินการในการช่วยเหลือ มอบถุงยังชีพ และให้ความช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้ ยังได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอีกด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของนักเรียนระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ที่เป็นช่วงรอยต่อของระดับชั้นการศึกษา ได้ประมาณ 60% ของจำนวนเด็กทั้งหมด พบว่ามีเด็กถึง 3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียนต่อ และมีความเสี่ยงในการหลุดจากระบบการศึกษา และยังเป็นที่น่ากังวลว่า หากมีการสำรวจครบทั้ง 100% และในทุกกลุ่ม คือรวมถึงกลุ่มที่อยู่ในช่วงการเรียนปกติ ไม่ใช่ช่วงการเรียนที่เป็นระดับชั้นรอยต่อ อาจมีจำนวนเด็กที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบนับหมื่นคน

สำหรับสาเหตุที่นักเรียนไม่ได้สมัครเรียน ส่วนใหญ่คือ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน (ร้อยละ 57) มีปัญหาทางการเรียน ครอบครัว สุขภาพ และขาดแคลนทุนทรัพย์ (ร้อยละ31) ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา (ร้อยละ10) ไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน (ร้อยละ 2)

ในส่วนของความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2563 กสศ.ได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่อง ช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล–มัธยมศึกษาตอนต้น ในสังกัด สพฐ.อปท.และตชด.ทั่วประเทศ ซึ่งนักเรียนทุนเสมอภาคที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองระดับยากจนพิเศษ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมคนละ3,000 บาท/คน/ปี โดยในภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2563 กสศ.จะจัดสรรเงินให้นักเรียน 2,000 บาทในช่วงเดือนกรฎาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนของผู้ปกครอง และช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยจะโอนผ่าน Prompt Pay โดยหากยังไม่มี เราได้รับความร่วมมือจากธนาคารในการเปิดบัญชี และสมัคร Prompt Pay ได้ทันที

ด้าน ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีปัญหาอยู่แล้วในหลายมิติ จากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) พบว่า เมื่อเด็กไทยเรียนช้าลง 1 ปี จะทำให้คะแนน PISA ลดลง 6.25 หากเรียนช้าลง 2 ปี คะแนนจะลดลงไปเกือบ 2 เท่าตัวคือลดลง 18.11 และหากเรียนช้าลงไป 3 ปี จะทำให้คะแนนลดลงถึงเกือบ 8 เท่าตัว คือลดลง 47.43 คะแนน การที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาออกไปยิ่งนาน ก็ยิ่งทำให้เรียนรู้ได้ช้าลงไปมาก ดังนั้นจึงควรต้องช่วยกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา  

ดร.ไกรยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่เพียงโรงเรียน หรือ ผู้ปกครอง แต่เป็นทุกฝ่าย จึงจะสามารถช่วยกันพาน้องกลับโรงเรียนได้ ไม่ทำให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา เช่นเดียวกับที่ได้ช่วยกันคนละมือเพื่อมื้อน้อง ทำให้น้องได้อิ่มท้องในช่วงที่ครอบครัวประสบปัญหาด้านความเป็นอยู่และเศรษฐกิจเมื่อช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา

Related Posts

Send this to a friend