KNOWLEDGE

กสศ.จับมือ สพฐ. อัพเกรด “CCT App” บูรณาการระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนและระบบดูแลช่วยเหลือใน App เดียว

เมื่อวันที่  29 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาระบบสารสนเทศระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ทันสถานการณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข และบูรณาการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ จากประสบการณ์การทำงานร่วมกันของ กสศ. และ สพฐ. ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ การหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันของเด็กเยาวชนจำนวนมากในระบบการศึกษา พบว่า ข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและทันต่อสถานการณ์ปัญหาของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและเสมอภาคอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้อาจมิใช่เพียงข้อมูลทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียนซึ่งได้มาจาก ตัวผู้เรียน กลุ่มเพื่อน ครอบครัว ที่เกี่ยวกับปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม และสถานการณ์ของครัวเรือนที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและพฤติกรรมของเด็ก และเป็นปัจจัยกำหนดอนาคตทางการศึกษาและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้เรียน เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน การติดยาเสพติด ติดเพื่อน ติดเกม การบูลลี่ ซึ่งหลายครั้งครูเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ และบางข้อมูลก็ไม่ได้อยู่ในรั้วโรงเรียน แต่มาจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กที่คุณครูได้มาจากระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

​”ถ้าโรงเรียนมีข้อมูลเชิงลึกรอบด้านเกี่ยวกับตัวเด็กคืออกุญแจสำคัญในการพลิกชีวิตน้องที่ขาดความมั่นใจ หรือ มีปัญหาพฤติกรรมในการเรียน ให้กลับมาเป็นเด็กเรียนดี เป็นผู้นำของเพื่อนๆ สามารถหาตัวเองเจอรู้อนาคตตัวเอง หรือเปลี่ยนใจจากที่เคยคิดแค่จบม.3 จะออกไปหางานทำเป็นเรียนต่อปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น เพื่อกลับมาเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ในอนาคต ข้อมูลเชิงลึก รายบุคคลที่ถึงมือครูได้ทันต่อสถานการณ์เป็นเกมเชนเจอร์อย่างแท้จริง” ดร.ไกรยส กล่าว

รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ปัจจุบันการเก็บข้อมูลช่วยเหลือเด็กของ ฉก.ชน. เป็นการเก็บแบบกระดาษ กสศ.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ จึงเห็นว่าควรนำมาทำเป็นระบบเดียวกันครูเยี่ยมบ้านครั้งเดียวสามารถใช้สมาร์ทโฟนเก็บข้อมูลเข้าส่วนกลาง สามารถเรียกดูได้มีการแจ้งเตือน มีอัลกอริทึมชี้ให้ครูเห็นปัญหาและดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที พร้อมส่งต่อเข้าระบบ DMC หรือ ระบบสารสนเทศอื่นๆ ซึ่งเราตั้งใจจะให้ระบบนี้ช่วยลดความซ้ำซ้อน ให้ครูกรอกข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน CCT ครั้งเดียวใช้ได้หลายครั้งแทนที่เดิมกรอกหลายครั้งบางครั้งแทบไม่ได้หยิบมาใช้งานเลย

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานเบื้องต้นจะเริ่มทดลองจาก 8 เขตพื้นที่การศึกษา ที่มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กนักเรียน ก่อนจะนำมาปรับปรุงขยายผลในเชิงนโยบายต่อไปในอนาคตคาดว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติงานได้จริงในปี 2564 ​ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และ กสศ. ที่ช่วยกันร่วมพัฒนาระบบสารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ดูแลพัฒนานักเรียนได้อย่างยั่งยืนและขยายไปยังกลุ่มอื่นต่อไปในอนาคต ​​ 

ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองผู้อานวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน กล่าวว่า เป็นโจทย์ที่เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรในการช่วยให้คุณครูไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ โดยการกรอกในระบบ DMC เป็นข้อมูลสำคัญที่จะถูกดึงมาเป็นแกนและเติมรายละเอียดเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ในการช่วยเหลือเด็กสิ่งที่ต้องการรู้มากกว่าข้อมูลทั่วไปคือ ข้อมูลความเป็นอยู่ ความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เราจะต้องมาดูว่าจะช่วยแก้ไขอย่างไรให้ครูไม่ต้องทุ่มเทเวลาไปกับการมากรอกข้อมูลทั้งหมด

นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. กล่าวว่า การพัฒนาระบบคัดกรองนักเรียนยากจนและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนครั้งนี้ เป็นการเพิ่มฟังก์ชั่นของระบบ CCT ไปสู่การพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลทุกมิติและส่งต่อความช่วยเหลือนักเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เช่น กระทรวงสาธารณสุข พม. เป็นต้น เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา โดยในปีการศึกษา 2563 จะเน้นกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ หรือ นักเรียนทุนเสมอภาค ที่ กสศ.ช่วยเหลือต่อเนื่อง ในพื้นที่นำร่อง 8 เขตพื้นที่การศึกษา จำนวนนักเรียน 1,000 คน  ซึ่งจะช่วยให้สถานศึกษามีข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนดูแลนักเรียนได้เป็นรายบุคคล และป้องกันนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา 

ทั้งนี้ สพฐ.และ กสศ.ได้ตั้งคณะทำงานบูรณาการการเยี่ยมบ้าน การคัดกรองนักเรียนยากจน และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดทำข้อมูล และวิจัยพัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคและนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและมีปัญหา  โดยในการประชุมครั้งนี้จึงต้องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสอดคล้องกับการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด ก่อนนำไปทดลองใช้เพื่อนำข้อมูลมาประเมินผลและจัดทำนโยบายที่ตอบโจทย์ในระยะยาวต่อไป

ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีเป้าหมายเพื่อรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลในมิติต่าง ๆ และช่วยเหลือส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันเวลา รวมทั้งลดภาระงานคุณครูในการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ซึ่งเริ่มต้นนำข้อมูลทั่วไปจาก DMC มาเพิ่มเติมข้อมูลการคัดกรองนักเรียนยากจน​ และน้ำหนัก ส่วนสูง การเข้าห้องเรียน ข้อมูลการเยี่ยมบ้านของครู รวมทั้งมีระบบเฝ้าระวัง ช่วยเหลือนักเรียน ระบบประเมินจุดแข็งจุดอ่อนนักเรียน ซึ่งต้องการให้มีระบบที่รวมข้อมูลทั้งหมดไว้ที่เดียว ​

นายอดิศักดิ์ คงทัด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสำโรง จ.นครปฐม กล่าวว่า หากมีระบบสารสนเทศเช่นนี้จะช่วยให้การทำงานของโรงเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะจากเดิมที่ต่างโรงเรียนต่างทำแต่ถ้าเห็นข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศจะช่วยให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน ​อีกทั้งยังทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึก ในมิติต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ มองว่าตรงนี้เป็นประโยชน์มากกว่าเป็นภาระของคุณครู

ขณะที่ นางจีรวรรณ วงศ์เหลือง ผู้อำนวยการโรงเรียนพระพุทธบาท “พลานุกูลวิทยา” จ.สระบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในในการวางแผนช่วยเหลือเด็กในด้านต่าง ๆ เป็นปกติอยู่แล้วเพียงแต่ทำในรูปแบบกระดาษกระจายอยู่ 5 แฟ้ม เวลาใช้ก็ต้องไปหาโปรแกรมมารวมเอง แต่เมื่อทาง สพฐ. ​และ กสศ. ​จะจัดทำระบบนี้ขึ้นมาก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกคุณครูให้ทำงานง่ายขึ้น  เพราะเชื่อว่าต่อไปจะมีการประมวลผล และสรุปได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญยังเป็นระบบที่อัปเดตอยู่ตลอดเวลาเมื่อพบปัญหา หรือความสุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวกับเด็กระบบจะแจ้งเตือนเพื่อให้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

Related Posts

Send this to a friend