KNOWLEDGE

กสศ.เปิดตัว เว็บไซต์-โซเชียลมีเดีย I AM KRU แพลตฟอร์มสร้างสังคมสร้างสรรค์การสอน

สํานักพัฒนคุณภาพครูฯ กสศ. เปิดตัว เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย I AM KRU แพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างสังคมสร้างสรรค์การสอน

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ( กสศ.) พร้อมด้วย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์และโซเซียลมีเดีย I AM KRU แพลตฟอร์ม ออนไลน์ ที่รวบรวมเครื่องมือ ข้อมูล ผลงานวิจัย ตัวอย่างนวัตกรรมในห้องเรียนที่ครูสามารถนำเครื่องมือไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ครูสามารถเข้ามาเสริมสร้างสมรรถนะ พัฒนาศักยภาพในการสอนของตนเอง และ เป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นเพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ 

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ครูจะต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะทำให้เด็ก มีความสุขในการเรียน โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่เด็กต้องเรียนทางออนไลน์ เป็นหลัก ครูจึงต้องพัฒนาทักษะตนเองพัฒนาศักยภาพ สอนลูกศิษย์ โดยเน้น ให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้กับโลกข้างหน้าที่ต้องเผชิญในอนาคต และต้องสอดคล้องกับความสามารถเฉพาะบุคคลและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยที่ครูต้องเข้าถึงเด็กทุกคน 

“การสอนให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือการเรียนออนแฮนด์ ครูต้องสอนให้เด็ก ได้เรียนรู้ โดยการให้เด็กได้ร่วมออกแบบการเรียนการสอน ไม่ใช่ครูออกแบบเพียงคนเดียว ต้องมีการสอบถามว่าอยากได้รู้แบบไหน ดังนั้นครูต้องเปิดใจไม่ใช่เป็นผู้ให้เพียงด้านเดียว แต่เด็กต้องมีส่วนร่วม ที่สำคัญครูต้องกล้าที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนไม่ว่าจะออนไลน์หรือออนแฮน นอกจากนี้ ครูจะต้องเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆห้องเรียนจะต้องไม่ปิด โดยเฉพาะขณะนี้ การเรียนออนไลน์ทุกคนเข้าถึงห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวาและผู้ปกครองเข้ามาเรียนรู้ได้ ซึ่งแพทฟอร์ม I AM KRU จะเป็นตัวช่วยเสริมที่ดี และเข้าถึงทุกคนรศ.ดร.ดารณี กล่าว 

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิด Learning Loss การถดถอยในการเรียนรู้ หรือ ผลกระทบด้านความรู้ที่หายไปในเด็กนักเรียนจำนวนมาก ซ้ำเติมกับช่องว่างทางการศึกษาที่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ กับโรงเรียนขนาดเล็ก และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจากความเห็นจากวงสนทนา เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (PLC) ของเครือข่ายนักจัดการการศึกษา จากหลายพื้นที่ พบว่าการเรียนการสอนออนไลน์มีข้อจำกัดมากกว่าที่คิด แต่ก็ต้องตั้งรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแบบนี้ต่อไป 

ขณะที่ครอบครัวรายได้น้อย เด็กด้อยโอกาสไม่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ ไปจนถึงการที่คุณครูห่างหายจากการสอนหน้าชั้นเรียน รวมถึงระบบการจัดการเดิมไม่สามารถปรับตัวให้ทันสมัย เท่าทันการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป้าหมายของการพัฒนาเด็กได้ สำนักพัฒนาคุณภาพครูฯ ต้องค้นหาวิธีหนุนครู ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ 

“ด้วยเหตุนี้เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย “I AM KRU สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน” จึงเหมาะกับครูทุกพื้นที่ ทุกเจนเนอเรชั่นที่สนใจในการพัฒนาศักยภาพตนเอง และอยากเชิญชวนครูทุกคนมาเสนอไอเดียการสอนเทคนิคใหม่ๆ หรือแม้แต่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อช่วยให้นักเรียนของเราในทุกพื้นที่ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม นอกจากนี้ยังอยากให้คุณครูคอยติดตามกิจกรรมและหลักสูตรออนไลน์ต่างๆจากทาง กสศ.ที่ไม่ว่าครูจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชม. โปรแกรมจะติดตั้งใบประกาศนียบัตรที่คุณครูสามารถปรินท์ได้เลยทันที่จบหลักสูตร ซึ่งนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะถูกแบ่งปันลงในเว็บไซต์นั้นจะไม่ได้มีเพียงแค่นวัตกรรมจากบุคลากรคุณภาพในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงครูจากกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศติมอร์-เลสเตดร.อุดม กล่าว 

ดร.อุดม ย้ำว่าเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย “ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน” จะอยู่เคียงข้างเพื่อเสริมพลังครู เพราะเราเชื่อว่าคุณครูทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดทิศทางของคนในประเทศ เป็นหัวใจที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ของไทย

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

Related Posts

Send this to a friend