KNOWLEDGE

ทบทวนนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้านการศึกษา … ความหวังใหม่ของมหานครเหลื่อมล้ำสูง

The Reporters เปิดวงเสวนา ทบทวนนโยบายด้านการศึกษาของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านการศึกษากับนักการศึกษา และนักวิชาการ ได้แก่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดร.ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) อ.อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 3 เน้นย้ำว่า การศึกษา เป็นเรื่องสำคัญแต่กลับถูกมองข้ามไป และเป็นที่พูดถึงไม่มากนักเมื่อเทียบกับเรื่องเศรษฐกิจ การเดินทาง และนโยบายอื่นๆ ทั้งๆ ที่หากมีการพัฒนาด้านการศึกษาที่ดี จะทำให้เกิดการสร้างโอกาสในการพัฒนา และสร้างมูลค่าทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงที่สุดในประเทศ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นการกำหนดชีวิต และอนาคตของ กทม. ขอให้ดูนโยบายการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง หากผู้สมัครมีความชัดเจน ตระหนักและ เข้าใจเรื่องการศึกษา จะเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ และมองอนาคตเมืองไปในทางที่ถูกต้อง เพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่ออนาคตของตนเอง และลูกหลาน

ในขณะที่ อ.อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่าไม่ใช่เพียงานโยบายการศึกษาไม่ได้รับการพูดถึง แต่นโยบายเรื่องเด็ก และเยาวชนก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเหมือนกัน ทั้งๆ ที่สามารถขยับฐานะ และสร้างการศึกษา เพื่อสร้างเมืองที่มีโอกาสให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าถึงการศึกษา แต่ต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพอีกด้วย

และเมื่อลงลึกถึงนโยบายด้านการศึกษาของผู้สมัคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6 อดีตผู้ว่าฯ กทม. มองเห็นปัญหาเรื่องการศึกษา และเน้นที่การ “เรียนดี เรียนฟรี มีอาชีพ” โดยที่ผ่านมาได้พัฒนา และปรับปรุงหลายด้าน รวมถึงสนับสนุนเรื่องเสื้อผ้า ชุดนักเรียน กระเป๋าหนังสือ รองเท้าผ้าใบ รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนค่าอาหารให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็น 28 บาท และของเด็กนักเรียนในสังกัด กทม. มีค่าอาหารเช้า และกลางวันรวม 40 บาทต่อหัว ซึ่ง ดร.ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ให้ความคิดเห็นว่า นอกจากสนับสนุนเรื่องชุดนักเรียนแล้ว อาจจะต้องมีการออกนโยบายเรื่องชุดของเด็กด้วย โดยโรงเรียนไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มีชุดมากเกินไป เนื่องจากปัจจุบันพ่อแม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับชุดสูง รวมถึงควรมีการพัฒนา และสนับสนุนครูพี่เลี้ยงในศูนย์ฯ เด็กเล็ก เพื่อให้มีสวัสดิการ และมีความมั่นคงทางอาชีพ เพราะ กทม.ยังสามารถทำอะไรได้อีกมาก

สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 ที่มีนโนบายการศึกษาครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การสนับสนุนครูพี่เลี้ยงให้มาเป็นข้าราชการ/ ลูกจ้างในสังกัด กทม. และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เราต้องสร้างความพร้อม ความสุข และสนับสนุนครูในศูนย์พี่เลี้ยง เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาการทำงานได้อย่างดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้เด็กเกิดการพัฒนาตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งด้านการศึกษา ไปจนถึงร่างกายที่พัฒนาเหมาะสมตามวัย ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาก โดย อ.อนรรฆ เสริมว่า ปัจจุบัน ศูนย์เด็กเล็กที่ได้มาตรฐานมีเพียง 20-30% นอกจากนั้นยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน กทม.อีกด้วย ส่วน ดร.ภูมิศรันย์ กล่าวว่า นโยบายยกระดับศูนย์เด็กเล็ก ผู้ว่าฯ สามารถทำได้จริง ทำได้เลย เนื่องจากมีมูลค่าทางทุนมนุษย์ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และยังช่วยเหลือให้พ่อแม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ ไปจนถึงชุมชนให้มีอาชีพ ศูนย์เด็กเล็ก สร้าง multiplier effect  อยากเห็นผู้ว่าฯ เห็นความสำคัญ และยกระดับศูนย์เด็กเล็กให้มากขึ้น   สำหรับนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ที่พูดถึงการเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยได้ลงพื้นที่ชุมชนโรงหมู คลองเตย ที่เคยมีพื้นที่โรงหมูเป็นพื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่การเล่นสำหรับเด็ก รวมถึงเป็นโอเอซิสของชุมชนแออัดที่ควรต้อง

มี เพื่อดึงเด็กออกจากสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ เด็กๆ ควรได้รับสวัสดิการเด็ก เพื่อให้เกิดการพัฒนา โดยยังมีนโยบายในการเปิดโรงเรียนวันเสาร์ เพื่อให้เด็กมีพื้นที่เล่น และเรียนรู้อีกด้วย

ในเรื่องนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก และอยากเห็นภาคเอกชน และบริษัทใหญ่ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วม ในการสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ให้กับเยาวชน มากกว่าใช้พื้นที่ไปกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการศึกษามีความสำคัญ

สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของอดีตอธิการบดี สจล. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 เน้นย้ำมากว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ และตนเองให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษามาก ครู หลักสูตร สื่อการสอน และสังคม ต้องพัฒนาทั้ง 4 ส่วนนี้ให้ดี มีการสนับสนุนครูให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้  หลักสูตรให้มีความเป็นเลิศ สื่อการสอน ต้องมีอินเทอร์เน็ตฟรี ต้องได้เรียน ได้เล่นเต็มที่ และต้องเพิ่มค่าอาหารให้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ สื่อการสอนต้องมีให้เพียงพอ และเหมาะสม รวมถึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม

ดร.ภูมิศรันย์ แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายนี้เน้นที่การสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี การเพิ่มศักยภาพให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ หรือล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องสร้างความบาลานซ์ให้เกิดขึ้นด้วย ต้องให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน โดย อ.อนรรฆ กล่าวว่าเห็นด้วยที่การศึกษาของ กทม.ควรมีความเป็นอิสระ สร้าง และออกแบบให้เหมาะกับคนทุกกลุ่ม เพราะจะสามารถนำไปสู่นวัตกรรมการศึกษา เช่น นวัตกรรมการศึกษาสำหรับเด็กในไซต์งานก่อสร้าง เด็กต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษา เพื่อยกระดับโอกาสและชีวิต ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ก็จะดีมาก เพราะจะเป็นการปิดช่องว่าง และเปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม

วงเสวนาวันนี้ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมใช้สิทธิเลือกตั้ง และหวังว่าการศึกษา และนโยบายด้านการศึกษา จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการตัดสินใจ และการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมาช่วยพัฒนาการศึกษาให้กับชาว กทม. ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend