KNOWLEDGE

ม.มหิดล เปิดสอน ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน ช่วยประเมินสุขภาพเชิงรุกแก่ประชาชน

ม.มหิดล สร้างความยั่งยืนทางสุขภาวะ ด้วยเทคนิคการแพทย์ชุมชนเชิงรุก หรือการดูแลสุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่ก่อนป่วย ด้วยการตรวจประมินสุขภาพ ทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนใน 2 สาขา แบ่งเป็น 5 ภาควิชา โดยมีภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน ซึ่งจัดการเรียนการสอนมาแล้วเกือบ 10 ปี เพื่อตอบโจทย์นโยบายสาธารณสุขของประเทศ ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ที่ช่วยให้สุขภาพเป็นเรื่องจับต้องได้ และสร้างความตระหนักและใส่ใจ ดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.ลิขิต ปรียานนท์ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “66 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะฯ ได้เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์ ด้านเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิคที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นที่พึ่งของประชาชน ในทุกสถานการณ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนใน 2 สาขา แบ่งเป็น 5 ภาควิชา โดยมีภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน ซึ่งจัดการเรียนการสอนมาแล้วเกือบทศวรรษ เพื่อตอบโจทย์นโยบายสาธารณสุขของประเทศ ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ”

“ซึ่งขอบเขตของงานเทคนิคการแพทย์ชุมชน ไม่ได้จำกัดแต่เพียงในเขตพื้นที่ชนบท แต่ยังรวมถึงพื้นที่ในเมือง ด้วยการให้บริการในคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่นอกจากเป็นการช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการขยายโอกาสทางวิชาชีพ ของนักเทคนิคการแพทย์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนอีกด้วย”

“บทบาทของเทคนิคการแพทย์ชุมชน ในปัจจุบันว่าควรจะเป็นไปในเชิงรุก โดยมุ่งดูแลประชาชนให้ห่างไกล จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญ ที่กำลังคุกคามโลก โดยได้แนะนำให้ประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี หนึ่งในโรค NCDs ที่ไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่ผู้ป่วยมักเข้าพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว ได้แก่ “โรคเบาหวาน” ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการเข้ารับ การตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ”

“การตรวจเลือดจากปลายนิ้ว” เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับบุคคลทั่วไป ค่าปกติอยู่ที่ไม่เกิน 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับการตรวจโดยไม่อดอาหาร หากมีค่าสูงเกินควรตรวจยืนยัน ด้วยการตรวจน้ำตาลจากหลอดเลือดดำ (Fasting Plasma Glucose) โดยค่าน้ำตาลที่เท่ากับ หรือเกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับการตรวจหลังงดอาหาร อาจหมายถึงกำลังมีภาวะเบาหวาน แม้การตรวจเลือดจากปลายนิ้ว จะไม่ใช่วิธีที่แม่นยำที่สุด และไม่จำเป็นต้องตรวจทุกวัน สำหรับบุคคลทั่วไป แต่เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับใช้ตรวจในระดับชุมชน เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นประจำปี ซึ่งหากพบความเสี่ยง ควรทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อไป”

สำหรับการตรวจน้ำตาลจากหลอดเลือดดำ เพื่อตรวจติดตามการรักษา สำหรับผู้ที่มีภาวะเบาหวานเพียงครั้งเดียวก่อนพบแพทย์ อาจไม่สะท้อนถึงการควบคุมอาหาร หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอการดำเนินโรค โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการควบคุมอาหารในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนตรวจเลือดอาจทำให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ไม่สูงอย่างที่ควร ซึ่งอาจนำไปสู่การแปลผลการติดตามการรักษาที่ผิดพลาดได้

ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจที่เรียกว่า “การตรวจระดับน้ำตาลสะสม” (HbA1c – Hemoglobin A1c) ซึ่งจะเป็นการสะท้อนถึงระดับน้ำตาล ในระยะ 2-3 เดือนย้อนหลัง เหมาะสมสำหรับการติดตามระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้มีภาวะเบาหวาน โดยค่าปกติควรน้อยกว่า 6.0 mg %

ในปัจจุบันแม้ว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะอาศัยเครื่องตรวจอัตโนมัติเป็นหลัก แต่ว่าบางอย่างยังคงไม่สามารถทดแทน ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ แต่ต้องอาศัยความชำนาญ ของนักเทคนิคการแพทย์ เช่น “การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ” ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี ที่ช่วยในการหาเส้นเลือดดำ เช่น อุปกรณ์ฉายลำแสงอินฟราเรด (infrared) แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของนักเทคนิคการแพทย์ ที่จะทำให้การเจาะเลือดเป็นไปด้วยความแม่นยำ ซึ่งการเก็บตัวอย่างเลือดที่ปลอดภัย และเหมาะสมมีความมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ผลการตรวจมีความถูกต้อง ซึ่งทางคณะฯ เห็นความสำคัญของทักษะนี้ จึงจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษา ได้ฝึกฝนการเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่าง ทั้งในโรงพยาบาล และในชุมชน เพื่อสร้างทักษะในการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก

วิชาชีพ “นักเทคนิคการแพทย์” ทำหน้าที่เป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” แต่ในปัจจุบันนักเทคนิคการแพทย์พร้อมทำหน้าที่ “ผู้ดูแล” ร่วมกับสหวิชาชีพในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่คอยสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความรู้ สร้าง health literacy และคำปรึกษาประชาชนตั้งแต่ก่อนป่วย เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนทางสุขภาวะ แทนคำมั่นสัญญา 66 ปี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Related Posts

Send this to a friend