KNOWLEDGE

อาจารย์เภสัช จุฬาฯ เผยผลวิจัยชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช ช่วยยับยั้ง ‘เซลล์มะเร็ง’ ในสัตว์ทดลอง

รองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความสำเร็จของการวิจัยชีวเภสัชภัณฑ์เพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยแนวทางภูมิคุ้มกันบำบัด โดยทีมนักวิจัยจาก ‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ บริษัทสัญชาติไทยในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังผลิตยาแอนติบอดี้จากพืชยาสูบ ซึ่งสามารถลดขนาด และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเพิ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รศ.ดร.วรัญญู อธิบายว่า โรคมะเร็งเกิดจากการที่เซลล์มะเร็งจับกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน แล้วบล็อกการทำงานของเซลล์ในร่างกาย การรักษาด้วยยาคีโมเป็นการใช้ยาเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย แต่สำหรับแนวทางการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดหรือเซลล์บำบัด ไม่ได้มุ่งไปที่การทำลายเซลล์มะเร็ง แต่จะเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น บล็อกไม่ให้เซลล์มะเร็งจับกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันจัดการเซลล์มะเร็งเอง อย่างไรก็ตาม ยาประเภทแอนติบอดี้ที่นำมาใช้สำหรับการรักษาในแนวทางนี้มีราคาแพงมาก กระบวนการผลิตยาต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทั้งวัสดุอุปกรณ์และอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ จึงเป็นที่มาของการวิจัยที่จะผลิตยาประเภทแอนติบอดี้ ด้วยเทคโนโลยีของคนไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตยา

ทั้งนี้ รศ.ดร.วรัญญู ดูแลหน่วยปฏิบัติการวิจัยสำหรับการผลิตเภสัชภัณฑ์จากพืช เน้นการพัฒนาและการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีน สารเมทาบอไลต์ทุติยภูมิ และไวรัสจากพืชผ่านเทคโนโลยีชีวภาพของพืช ซึ่งใช้พืช เช่น ยาสูบ เป็นโฮสต์ในการผลิตยาและวัคซีน โดยต้นยาสูบที่ใช้เป็นสายพันธุ์จากออสเตรเลียชื่อ Nicotiana benthamiana เป็นสายพันธุ์ที่ง่ายต่อการใส่เชื้อแบคทีเรียมและมีปริมาณการแสดงออกของยาที่ต้องการในปริมาณมาก

“เราใช้พืชเป็นเสมือนโรงงานผลิตโปรตีนที่เราต้องการ โดยเราใส่ยีนที่สามารถผลิตแอนติบอดี้เข้าไปในพืชยาสูบ เพื่อให้ต้นยาสูบผลิตแอนติบอดี้ (ยา) ที่ต้องการออกมา จากนั้นก็เอาโปรตีนที่ได้ (แอนติบอดี้) สกัดมาทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งเราพบว่าแอนติบอดี้ที่ผลิตออกมาจากพืชสามารถจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันได้” รศ.ดร.วรัญญู กล่าว

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวถึงผลการวิจัยในสัตว์ทดลองว่า แอนติบอดี้ที่ทีมวิจัยจุฬาฯ ผลิตจากพืช สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองได้ เซลล์ของก้อนมะเร็งในหนูมีขนาดลดลง ซึ่งความสามารถในการทำให้เซลล์มีขนาดลดลง เทียบเท่าได้กับยาที่ใช้ในท้องตลาด โดยขั้นต่อไปจะเป็นการทดสอบความปลอดภัย ความเป็นพิษ และการศึกษาลักษณะโครงสร้างของยา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะนำส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขออนุมัติทำการทดสอบในมนุษย์

Related Posts

Send this to a friend