KNOWLEDGE

มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เปิดตัว โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ฝึกเยาวชนทำธุรกิจจริง

มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 มุ่งพัฒนานักเรียนมัธยมปลายจาก 8 โรงเรียน ในจังหวัดน่าน ให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำธุรกิจจริง ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ใน 66 วัน จากวิทยากรมืออาชีพและนักธุรกิจตัวจริง พร้อมชูความสำเร็จจากพัฒนาการของเยาวชน ที่ได้รับทั้งองค์ความรู้ใหม่ มีทักษะใหม่ และได้ประสบการณ์จริง จากการทำธุรกิจทั้งกระบวนการ ผ่านการตั้งบริษัทจำลองพัฒนา 8 สินค้าจากสิ่งที่มีในท้องถิ่น

โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ การเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบท้องถิ่น พัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ และขายจริง ได้ความรู้และประสบการณ์ ที่มีค่าติดตัว เมื่อได้เป็นผู้ประกอบการในชีวิตจริง ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ และใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล รวมถึงสามารถแบ่งปันความรู้ และวิธีการให้ชุมชนได้รับโอกาสเดียวกันได้ เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิด

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เปิดเผยว่า “มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคน ผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะลดทอนความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาจึงได้ริเริ่มโครงการ เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ที่เสริมสร้างสมรรถนะของนักเรียน ให้มีองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์ใหม่ ที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยมุ่งหวังให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะ และเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถใช้ชีวิตในบ้านเกิด สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชน และช่วยขับเคลื่อนการเติบโต อย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน”

สำหรับการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 รวม 66 วัน ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา จาก 8 โรงเรียนในเมือง และพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดน่าน โรงเรียนละ 5 คน รวม 40 คน ได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงในการทำธุรกิจ ผ่านกิจกรรม 3 แคมป์ ได้แก่ แคมป์ที่ 1 “กล้าเรียน” ปูพื้นฐานสร้างไอเดียธุรกิจ ความเป็นไปได้ และเรียนรู้สิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ แคมป์ที่ 2 “กล้าลุย” บุกตลาด ลงมือขาย พบลูกค้าตัวจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ แคมป์ที่ 3 “กล้าก้าว” รายงานและนำเสนอผลประกอบการ

โดยเยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ และคุณค่ามิติต่างๆ ในการทำธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนระดับมัธยมทั่วไป ตั้งแต่วิธีการคิดหาไอเดียที่ตลาดต้องการ การทดสอบผลิตภัณฑ์ในตลาด กระบวนการตั้งราคา การทำแพ็คเก็จ การทำบัญชีธุรกิจ การบริหารจัดการบริษัท การตลาด และกระบวนการเปิดและปิดบริษัท การบริหารคน รวมทั้งมีความเข้าใจคุณค่าของทุน ในการทำธุรกิจ และการสร้างผลตอบแทน ซึ่งเยาวชนทั้ง 8 โรงเรียน สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการเลือกสรรสินค้าหรือวัตถุดิบในพื้นถิ่น พัฒนาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ สร้างแบรนด์เพื่อนำเสนอต่อผู้บริโภค และขยายตลาดวงกว้างมากขึ้น ได้แก่

1.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน (คุกกี้ แบรนด์ Ten Bites) พัฒนาคุกกี้ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ ของแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน ควบคู่กับการใช้ผ้าปักลายซึ่งเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่า มาเป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการขาย

2.โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม (กาแฟ และพิซซ่าม้ง แบรนด์มองเดอพี) จำหน่ายกาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ซึ่งเป็นแหล่งกาแฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย และยกระดับพิซซ่าม้ง อาหารวัฒนธรรมของชนเผ่าซึ่งทำกินกัน เฉพาะในช่วงเทศกาลปีละครั้ง ให้เป็นของทานเล่นที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

3.โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี (ข้าวแคบแบรนด์ลินา) พัฒนาข้าวแคบที่มีรสชาติหลากหลาย ที่ทำให้อาหารทานเล่นซึ่งเป็นสินค้าชุมชนเป็นที่รู้จัก มีรสชาติดี ทานง่าย และเข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น

4.โรงเรียนเชียงกลาง “ประชาพัฒนา” (น้ำพริก แบรนด์น้ำพริกสามช่า) จำหน่ายน้ำพริกมะเขือเทศ ที่เสิร์ฟพร้อมสาหร่ายไกยี สาหร่ายน้ำจืดที่หาได้ในจังหวัดน่าน ด้วยสูตรเด็ดสามสไตล์

5.โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน (สแน็คบ็อกซ์ แบรนด์ NALANA) ออกแบบสแน็คบ็อกซ์แห่งแรกที่ยกระดับ 6 ขนมของดังที่เป็นเอกลักษณ์ ของแต่ละชุมชนในจังหวัดน่าน รวมอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีลวดลายพิเศษ เพิ่มมูลค่าของฝากจากน่าน

6.โรงเรียนสา (ข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์หลามรวย) พัฒนาข้าวหลามถอดเสื้อ ที่แก้ปัญหาข้าวหลามให้สามารถแกะรับประทานได้ง่ายขึ้น จัดส่งและเก็บได้หลายวัน มีไส้หลากหลายรสชาติ และใช้ของดีท้องถิ่นอย่างมะแขว่น มาเป็นส่วนผสมของไส้ หนึ่งในคู่แข่งข้าวปั้นของญี่ปุ่น

7.โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม (น้ำสลัดอะโวคาโด แบรนด์ KADO) พัฒนาน้ำสลัดที่ทำจากเนื้ออะโวคาโดแท้ พืชเศรษฐกิจอีกชนิดของจังหวัดน่าน ยกระดับอาหารคลีนให้มีรสชาติกลมกล่อม เเละให้ความรู้สึกละมุนไปกับดอกเกลือสินเธาว์จังหวัดน่าน

8.โรงเรียนปัว (เนยถั่วมะมื่น แบรนด์มะมื่นบัตเตอร์) เพิ่มมูลค่ามะมื่นของดีท้องถิ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัลมอนด์เมืองไทย แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เป็นเนยถั่วคุณภาพดีสัญชาติไทย ที่สามารถเสิร์ฟร่วมกับอาหารเช้าสไตล์ของตะวันตกได้ดี

นอกจากความรู้ที่เยาวชนได้เรียนรู้ในภาคทฤษฏี และประสบการณ์จริงจากกูรูในด้านต่างๆ การปฏิบัติจริงผ่านการพัฒนาสินค้าต่างๆ ของเยาวชนที่ต้องผ่านกระบวนการคิด กระบวนการจัดทำ จนถึงการนำผลิตภัณฑ์มาขายจริง ทำให้เยาวชนเกิดซอฟต์สกิล พัฒนาการและการเรียนรู้ต่างๆ

“มูลนิธิฯ ไม่ได้มุ่งเน้นคัดเลือกเยาวชน ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นนักเรียน ซึ่งมีความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ส่งเสริมเยาวชนที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการ ช่วยให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จริง ซึ่งจะทำให้เยาวชนสามารถลดความเสี่ยง ในการเป็นนักธุรกิจอนาคตลงได้ และมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาขอขอบคุณ การสนับสนุนจากโรงเรียนและผู้ปกครอง ที่ไว้วางใจส่งนักเรียนและบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมกันผลักดันให้เยาวชน สามารถดำเนินกิจกรรมจนบรรลุเป้าหมาย จึงนับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก ผู้ปกครอง โรงเรียน และมูลนิธิฯ ในการทำงานร่วมกัน”

“ผลลัพธ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ไม่ใช่ผลการดำเนินธุรกิจ ที่วัดได้ด้วยยอดขาย แต่เป็นการที่เยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ทักษะ และประสบการณ์ โดยเฉพาะการได้รับโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการครั้งแรกในชีวิต ได้ลงมือทำธุรกิจทั้งกระบวนการ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากในอนาคต และเมื่อได้เป็นผู้ประกอบการจริง ต้องใช้เงินของตัวเองในการทำธุรกิจ อย่างน้อยที่สุดจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ เพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ และสามารถแบ่งปันความรู้และวิธีการให้ชุมชน ได้รับโอกาสเช่นเดียวกันนี้ได้”

Related Posts

Send this to a friend