KNOWLEDGE

แพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยนวัตกรรมตรวจสมองเสื่อมแฝง รู้ตัวล่วงหน้า 10 ปี ชะลออัลไซเมอร์ยามสูงวัย

นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือด วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดเผยถึงแนวทางการป้องกันอัลไซเมอร์ โรคที่มีระยะฟักตัว 10-15 ปี ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ หรือโรคอัลไซเมอร์แฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเมื่อการดำเนินโรคไปถึงจุดที่อาการเริ่มปรากฎ ผู้ป่วยก็สูญเสียเนื้อสมองไปมากแล้ว ก็ยากจะฟื้นฟูหรือกู้สุขภาวะของสมอง ล่าสุดมีวิทยาการทางการแพทย์ ที่ช่วยให้สามารถตรวจพยาธิสภาพ ของโรคอัลไซเมอร์ได้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อป้องกันอาการสมองเสื่อม ก่อนที่จะเกิดอาการ

นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์

นพ.ภูษณุ กล่าวว่า “ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายโรค โรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุด ของภาวะสมองเสื่อมคืออัลไซเมอร์ รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้น เกิดมาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และความเครียด ฯลฯ อาการสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ มักเกิดกับผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 16 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราส่วนของการพบผู้ป่วยโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 6 คน หรือ“ยิ่งคนอายุยืนขึ้น โอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมก็ยิ่งมากขึ้น”

ภาวะสมองเสื่อมเริ่มต้นจากอาการหลงๆลืมๆเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมา เมื่อมีอาการมากขึ้นผู้ป่วยจะช่วยตัวเองได้น้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองอย่างที่เคยเป็นมา ทำให้ต้องมีผู้คอยดูแลตลอดเวลา และเมื่อการดำเนินโรคมาถึงระยะท้าย ผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่างๆได้ โรคนี้เป็นฝันร้ายของคนที่ป่วยเพราะทำให้ตัวตนที่สั่งสมมาหายไป การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างในครอบครัว”

ส่วนการพยากรณ์สมองเสื่อมแฝงก่อนเกิดอาการ โดยทั่วไปการตรวจโรคอัลไซเมอร์ ก่อนแสดงอาการมี 2 วิธี ได้แก่

1.PET Scan (Positron Emission Tomography Scan) เป็นเทคโนโลยีการตรวจโรคทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยใช้ภาพวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะ และเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างแพง และใช้เวลาในการตรวจให้ครบ 2-3 วัน

2.การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการตรวจวัดระดับโปรตีน ที่ก่อโรคอัลไซเมอร์โดยการเจาะน้ำไขสันหลัง ซึ่งในประเทศไทยต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น วิธีการนี้มีผู้เข้าถึงและเข้ารับการตรวจน้อยเนื่องจากหลายคนกลัวเจ็บจากกระบวนการเจาะน้ำไขสันหลัง

แต่ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่จุฬาฯ ใช้เทคนิคทางอิมมูนวิทยาหรือวิทยาภูมิคุ้มกันในการตรวจเลือด แทนการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยใช้เครื่องตรวจที่มีชื่อว่า Simoa (Single molecule array) และเครื่อง LC-MS (Mass spectrometer) เพื่อตรวจสาร Phosphorylated Tau ในเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัลไซเมอร์แฝง และสาร Neurofilament light chan ซึ่งเป็นการตรวจการสูญเสียเนื้อสมอง วิธีนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่า ลดความซับซ้อนและความเจ็บในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมแฝง และยังได้ผลการตรวจที่แม่นยำอีกด้วย

“วิธีเจาะเลือดตรวจสารโปรตีน ที่ก่อโรคอัลไซเมอร์เป็นวิธีใหม่ที่มีความคุ้มค่า ผลการตรวจมีความแม่นยำถึง 88 % ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยเทคนิคที่ใช้ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการตรวจก็ไม่แพง เมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบเดิมที่ใช้อยู่ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มอัตรา การเข้าถึงการบริการที่ง่ายกว่าวิธีเดิมด้วย”

ข้อดีของการเจาะเลือดตรวจอัลไซเมอร์แฝงนั้น การตรวจก็ง่ายและปลอดภัย ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการเจาะเลือด ซึ่งพยาบาลหรือนักเทคนิคการแพทย์จะเจาะเลือดเพียง 10 ซีซีเท่านั้น และเป็นการตรวจเพียงครั้งเดียว ส่วนการวิเคราะห์ผลใช้เวลา 2 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ผู้รับการตรวจเลือด ยังต้องทำแบบทดสอบความสามารถ ของสมองควบคู่ไปด้วย เพื่อดูต้นทุนทางสมองว่าอยู่ในระดับไหน ผู้ที่มีต้นทุนทางสมองที่ดี แม้จะมีโรคอัลไซเมอร์หรือโรคอื่นๆแฝงก็จะไม่แสดงอาการออกมา ส่วนผลจากการตรวจเลือด จะนำไปประมวลกับผลการทำแบบทดสอบก่อนจะแปรผลรวมอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปรผลมีความซับซ้อน และต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และอายุที่มากขึ้น หากดูแลตัวเองได้ดี ลดปัจจัยเสี่ยงเสริมต่างๆ ก็อาจจะลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 40% ส่วนวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ ดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือหากเป็นแล้วก็รักษาและควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวให้ดี ผู้ที่มีอาการหูหนวก หูตึง จะทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้น ส่งผลให้สมองเสื่อมได้ง่าย จึงควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วน ช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อม เช่น ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ควรเป็นอาหารทะเล งดของหวาน ของเค็ม ของทอด ทานไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือ ถั่วชนิดต่างๆ ฯลฯ งดสูบบุหรี่ ลดหรืองดการดื่มสุรา สิ่งสำคัญที่สุดคือควรออกกำลังกายทุกวัน วันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง การออกกำลังกายสามารถลดภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากการออกกำลังกาย จะช่วยให้ร่างกายสร้างสารฟื้นฟูสมอง

และนอกจากปัจจัยเสี่ยง ที่แต่ละคนจะดูแลเพื่อรักษา สุขภาพกายและสมองของตัวเองได้แล้ว ยังมีมีปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ มลภาวะทางอากาศ โรคซึมเศร้า รวมถึงความเปล่าเปลี่ยวทางสังคม ที่มาจากการใช้ชีวิตลำพังของผู้สูงวัย เหล่านี้ก็ส่งผลต่อโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องการ ความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคม ที่จะช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม และความสัมพันธ์ เพื่อให้เราห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ไปด้วยกัน

Related Posts

Send this to a friend