KNOWLEDGE

อธิการบดี สจล. เสนอใช้ 4 หลักคิดช่วยคนกรุงฯ ฝ่าวิกฤต ‘น้ำประปาเค็ม’

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอ 4 หลักคิดด้านวิศวกรรม ช่วยคนกรุงฯ ฝ่าวิกฤตซ้ำซาก “น้ำประปาเค็ม” ดังนี้ 1. เลือกตำแหน่งสถานีสูบน้ำดิบ ด้วยเทคโนโลยีระบบท่อและอุโมงค์ เพื่อลำเลียงน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา  2.เตรียมแหล่งน้ำดิบสำรอง สำหรับเตรียมไว้ใช้ทำน้ำประปา ในช่วงน้ำทะเลหนุน  3.การดันน้ำจืด ดันน้ำทะเล เพื่อวางกลยุทธ์ปล่อยน้ำลงมาในช่วงจังหวะที่เหมาะสม และ 4.การควบคุมระดับน้ำทะเลหนุน ด้วยการบริหารจัดการเปิด-ปิดประตูน้ำ ของ กทม. ตามหลักวิศวกรรม

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพรอบตัว ครอบคลุมทั้งทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร จากสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ฝุ่นพิษ PM2.5 และล่าสุดกับ “น้ำประปาเค็ม” ที่เสี่ยงกระทบต่อกลุ่มทุกช่วงวัย ซึ่งปัญหาดังกล่าว นับเป็นปัญหาซ้ำซากของคนกรุงฯ อันเนื่องมาจาก น้ำดิบที่ใช้ทำน้ำประปา มีน้ำทะเลเจือปนสูง เพราะน้ำทะเลหนุน ดันเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะที่เจ้าพระยาตอนเหนือแล้ง จึงไม่มีน้ำจืด ดันลงไปสู้! ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า เกิดจากปัญหาทางเทคนิค ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยหลักการทางวิศวกรรม จึงขอเสนอ 4 หลักคิดช่วยคนกรุงฯ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. เลือกตำแหน่งสถานีสูบน้ำดิบ ของการประปานครหลวง (กปน.) – จ.ปทุมธานี อาจใกล้ปลายน้ำมากเกินไป แม้ในอดีตถือว่าเป็นตำแหน่งที่คิดว่าน้ำทะเลคงหนุนไม่ถึง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติรุนแรง กปน.อาจต้องย้ายสถานีสูบน้ำดิบ ขึ้นเหนือไปอีกที่น้ำทะเลหนุนไม่ถึง ด้วยเทคโนโลยีระบบท่อและอุโมงค์ จะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะในต่างประเทศ หรือแม้แต่การประปาภูมิภาคของไทย ก็สามารถลำเลียงน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา ในระยะทางไกล ๆ

2. เตรียมแหล่งน้ำดิบสำรอง – อาจเป็นบ่อน้ำจืดขนาดใหญ่ หรือขนาดย่อมหลายพื้นที่ เช่น เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ ไว้ใช้ทำน้ำประปา ในช่วงน้ำทะเลหนุน

3. การดันน้ำจืด ดันน้ำทะเล – เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน วางแผน กลยุทธ์ปล่อยน้ำลงมาในช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพราะการปล่อยมาตอนน้ำทะเลต่ำ ก็ไร้ประโยชน์ แต่พอน้ำทะเลขึ้นสูง น้ำเหนือหมด ไม่มีให้ปล่อย จบ! จึงต้องพยากรณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล กับ กทม. และ กปน. ยอมรับว่าการประสานข้ามหน่วยงานในประเทศไทย เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง

4. การควบคุมระดับน้ำทะเลหนุน – ทำได้ด้วยการบริหารจัดการเปิด-ปิดประตูน้ำ ของ กทม. ตามหลักวิศวกรรม น้ำเค็มหนุนก็ต้องปิด น้ำลงก็เปิด แต่มีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็น เพราะมีเรื่องการขนส่งทางเรือ ทางคลอง และทางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหากมีปัจจัยของน้ำฝน รอระบาย เข้ามาอีก แบบนี้เรื่องใหญ่

ไม่อยากเชื่อ ปัญหาน้ำประปาเค็ม ดื่มไม่ได้ กลายเป็นข้อพิสูจน์ กรุงเทพต้องเจอศึกหนัก รอบทิศทาง ทั้งทางบกรถติด ทางอากาศฝุ่นพิษ และทางน้ำน้ำเค็มหนุน… แต่ทั้งนี้ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เพราะปัญหาหนักกว่านี้ ในเมืองหลวงอื่น ๆ ทั่วโลก มนุษย์ก็สู้ ประคับประคอง อยู่รอดได้ มามากมาย แล้วทำไม คนกรุงเทพจะทำไม่ได้

Related Posts

Send this to a friend