คณะท่องเที่ยวฯ มธบ. เร่งพัฒนานักศึกษา ตอบรับธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมที่ขาดแคลนหนัก
ชูจุดแข็ง ‘service mind’ พร้อมทักษะที่หลากหลาย เพื่อสอดคล้องความต้องการของผู้ประกอบการ
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงภาพรวมของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ ว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองความคิดของผู้คนแตกต่างไปจากเดิม ทั้งผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร้านค้า ซัพพลายเชน และแรงงาน รู้สึกวิตกกังวลต่อการอยู่ในภาคธุรกิจดังกล่าว อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่าประเทศไทย ปี 2566 ในภาคอุตสาหกรรมกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวโตแบบฉับพลัน ทำให้ยังขาดแรงงานรองรับภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจและอยากมาท่องเที่ยว เพราะเรามีความได้เปรียบทั้งด้านการเดินทาง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการบริการ ความเป็นมิตรมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ.ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีการผลิตบัณฑิต บุคลากร แรงงานด้านการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน จะต้องทำให้นักศึกษา และผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในสายอาชีพการท่องเที่ยว โรงแรม และบริการ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การเรียนในคณะนี้ไม่ใช่จบมาแล้วจะทำเพียงในโรงแรม สายการท่องเที่ยว หรือทำอาหาร เป็นเชฟเท่านั้น แต่สามารถทำงานได้หลากหลาย” นางวสุกานต์ กล่าว
นางวสุกานต์ กล่าวต่อว่า หลักสูตรของคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ. จะเน้นการลงมือปฎิบัติจริง จากสถานที่จริง ผู้ประกอบการจริง เพราะการลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญ อีกทั้งบัณฑิตที่จบจากคณะสามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งทำงานในโรงแรม wellness จัดอีเวนท์ เลขานุการ ผู้ช่วยส่วนตัว ทำงานในธุรกิจบริการ หรือหากเป็นเชฟ พ่อครัวแม่ครัวก็สามารถทำงานได้ที่ร้านอาหาร สร้างสรรค์เมนู หรือขายอาหารออนไลน์ได้ เป็นต้น ดังนั้น นักศึกษาที่เรียนในคณะนี้ ต้องมีจิตบริการ รู้จักจุดแข็งของตัวเอง มีบุคลิกภาพที่ดี มีความรับผิดชอบ ซึ่งทุกคนจะมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน แต่ต้องเสริมจุดแข็งของนักศึกษาให้ชำนาญ มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี เทียบโอนจาก ปวส. รวมทั้งหลักสูตรปริญญาโทการจัดการการท่องเที่ยว
“หลังจากเข้ารับตำแหน่งคณบดี ได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งคณาจารย์ และนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาได้เสนอในสิ่งที่พวกเขาอยากได้จากคณาจารย์ มหาวิทยาลัย นั่นคือ การได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจากทั้งสถานที่จริง ได้ลงมือทำงานจริง ๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพตั้งแต่เข้าศึกษาปี 1 และต้องการให้เพิ่มเติมทักษะภาษาที่ 3 อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น เพราะเขามองว่าตอนนี้เศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียกำลังเติบโต และเป็นโอกาสในการทำงานของพวกเขา ฉะนั้น DNA ของบัณฑิตคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม ต้องรู้จักตัวเอง มี service mind บริการด้วยใจ ใครที่ได้พบเห็น ได้ทำงานร่วมกับบัณฑิตของ มธบ. ต้องติดใจ อยากได้เข้าไปทำงานร่วม” นางวสุกานต์ กล่าว