KNOWLEDGE

จุฬาฯ จับมือ การบินไทย ‘ผนึกความรู้คู่ฟ้า’ พัฒนาคน-หลักสูตร รับโลกยุคใหม่

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 68 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานแถลงข่าวความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “จุฬาฯ – การบินไทย: ความรู้คู่ฟ้า Chula-TG: Be the Star in the Sky of Knowledge” ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทั้งสององค์กรร่วมแสดงวิสัยทัศน์และประกาศความพร้อมในการเดินหน้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาความรู้และศักยภาพบุคลากรอย่างยั่งยืน

ภายในงานมีศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ยังมี นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นางจันทริกา โชติกเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และรองศาสตราจารย์ ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการ “ความรู้คู่ฟ้า Chula-TG” เป็นความร่วมมือที่บูรณาการระหว่างภาคการศึกษาชั้นนำกับองค์กรภาคธุรกิจการบินของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการที่ต้องเผชิญความท้าทายด้านบุคลากร เทคโนโลยี และความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมโครงการสำคัญหลากหลายด้าน ทั้งวิชาการ สื่อสร้างสรรค์ และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมีโครงการหลัก เช่น การจัดทำเนื้อหา Edutainment เพื่อเผยแพร่บนเที่ยวบินของการบินไทย ออกแบบให้ผู้โดยสารเรียนรู้ระหว่างเดินทางด้วยเนื้อหาจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของจุฬาฯ ในรูปแบบวีดิทัศน์และสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งเนื้อหาสำคัญชุดแรกจะนำเสนอกรณีศึกษาการบริหารและการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ถือเป็นตัวอย่างเชิงกลยุทธ์ที่สะท้อนกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ การจัดการภาวะวิกฤต และการเปลี่ยนผ่านองค์กรที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในวงการธุรกิจและการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการจัดทำรายการ “Series of the President” สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย เพื่อเปิดเผยแนวคิดภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนองค์กร และการจัดการในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ถ่ายทอดในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย เป็นประโยชน์แก่บุคลากรภาครัฐ เอกชน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

สำหรับการพัฒนาหลักสูตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและการบินไทยได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรด้านการบริการ “School of Hospitality” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการโดยเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาบริการ การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับนานาชาติ

พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการ “1 Staff 1 Certificate” เปิดโอกาสให้พนักงานการบินไทยทุกระดับเข้ารับการอบรมหลักสูตรระยะสั้นจากจุฬาฯ ในหลากหลายสาขา เช่น การบริหารจัดการ การตลาดดิจิทัล ภาษาอังกฤษสำหรับงานบริการ และทักษะการคิดเชิงออกแบบ ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในสายอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นในพลังของความรู้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ความร่วมมือกับการบินไทยครั้งนี้จึงเป็นแบบอย่างของการใช้วิชาการเชื่อมโยงกับโลกจริงอย่างมีพลัง ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศชาติ

ด้าน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การบินไทยมุ่งมั่นส่งเสริมด้านการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเสมอมา และภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับจุฬาฯ สร้างสรรค์โครงการที่มีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจเช่นนี้ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่เพียงพิสูจน์ศักยภาพในการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์วิกฤติ แต่ยังสะท้อนบทเรียนอันทรงคุณค่าที่ควรได้รับการศึกษาวิเคราะห์และถ่ายทอดแก่สังคมวงกว้าง เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพลิกฟื้นธุรกิจในอนาคต

งานแถลงข่าวครั้งนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาทุนมนุษย์ และเป็นตัวอย่างของการบูรณาการระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจที่มุ่งสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมในระยะยาว ทั้งในมิติของคุณภาพบริการ มาตรฐานวิชาชีพ และการสร้างแรงจูงใจใหม่ให้กับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat