KNOWLEDGE

กสศ.หวังสภาฯ แปรญัตติให้โอกาสเด็กยากจนพิเศษ 1.5 แสนคนได้ทุนเสมอภาคได้เรียนในระบบ หลังถูกตัดไปกว่า 1,900 ล้านบาท

ฟังเสียง เด็กทุนเสมอภาค ได้เรียนหนังสือในระบบ มีอาหาร มีเพื่อน ชดเชยชีวิตที่หายไป ขณะที่กสศ. หวังสภาผู้แทนราษฏรแปรญัตติให้โอกาสยากจนพิเศษ 1.5 แสนคนได้ทุนเสมอภาค หลังถูกตัดไปกว่า 1,900 ล้านบาท

“ผมอายุ 17 ปีครับ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ผมเรียนช้ากว่าคนอื่นเพราะแม่พาเข้าเรียนช้า บ้านเราอยู่ไกล แม่ก็ต้องทำงาน เมื่อผมได้เรียนก็ดีครับ ทำให้ผมมีเพื่อน แต่ก็คิดว่าจะเรียนถึงแค่ ม.3 เพื่อจะได้ช่วยแม่ทำงาน” นายยงยุทธ เคียงอมร

นายยงยุทธ เคียงอมร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนาเกียน จ.เชียงใหม่

“โรงเรียนบ้านนาเกียน มีเด็กยากจนพิเศษ 28 คนที่ผ่านการคัดกรองได้รับทุนในกองทุนเสมอภาค เพราะเป็นเด็กบนดอยที่ยากจนมาก พ่อแม่ไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง ปลูกผัก เป็นอาหาร พอได้มาเรียนชีวิตพวกเขาก็จะมีอาหารทานทุกมื้อ มีเพื่อนและได้เรียนหนังสือ” นพรัตน์ เจริญผล ครู ร.ร.บ้านนาเกียน

ความรู้สึกของครูที่ได้เห็นเด็กได้มาโรงเรียน มีความสุขไม่ต่างจากเด็กที่มีโอกาสได้เข้าเรียน แม้จะช้ากว่ากำหนด แต่การได้เรียนในระบบ ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ มีความรู้ และมีโอกาสที่ดีขึ้นในสังคม

โรงเรียนบ้านนาเกียน เป็นหนึ่งในเด็กว่า 7 แสนคน ที่ได้รับทุนเสมอภาค ปีการศึกษาละ 1,600 บาท ในปี 2562 ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. มอบให้เด็กยากจนระดับชั้น ป.1 – ม.3 ในสถาบันการศึกษาสังกัดของ สพฐ. พบว่า แม้จะเป็นเพียง 1 ใน 3 ของนักเรียนยากจนทั้งหมด แต่พบว่า 98% ของเด็กมาเรียนได้ผลดี ทั้งๆที่เงินช่วยเหลือยังมีจำนวนน้อย ปีละ 1,600 บาท หรือ เทอมละ 800 บาท เฉลี่ยเพียงวันละ 8 บาทเท่านั้น

“ในปี 62 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าเราจะได้งบประมาณจำกัด แต่สามารถเริ่มทำงานเป็นจริงจัง โดยเฉพาะเราทำทุนเสมอภาค ให้นักเรียนพื้นฐาน ป.1- ม.3 ช่วยระดับหนึ่ง ส่งเงินให้เขาเป็นค่าใช้จ่ายเดินทาง ให้ครูเสริม ประกอบอาชีพ ปลุกควาามคิดสำนึกให้ช่วยตัวเอง ได้ประมาณ 7 แสนคน ทำให้เด็กมีโอกาสได้มาเรียน ไม่ใช่แค่มา ร.ร.เท่านั้น แต่ต้องมีอาหารทานด้วย” ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กล่าวถึง ผลการทำงานในปีที่ผ่านมา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ได้เดินหน้าช่วยเหลือบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ มากกว่า 7 แสนคน ผ่านโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค  

แต่ยังไม่เพียงพอเพราะจากการประเมินของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พบว่ากลุ่มเป้าหมาย มีมากกว่า 4.3 ล้านคน และจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่าปีละ 25,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพียง 2,537 ล้านบาทหรือเพียง 10% ของงบประมาณที่ควรจะได้รับตามภารกิจเท่านั้น

ในปี 2563 กสศ.ได้เสนองบประมาณไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดไปกว่า 5,400 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการช่วยเหลือไปยังเด็กยากจนพิเศษ ในสังกัดของ ตชด.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเด็กปฐมวัย คือ เด็กอนุบาล จำนวนกว่า 1.5 แสนคน ซึ่ง ครม.เห็นชอบ แต่ถูดตัดในชั้นสำนักงบประมาณ เหลือ เพียง 3,800 ล้านบาท จนมาถึงขั้นแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฏร

“น่าเสียดายมากครับ ที่ในปี 63 กสศ.เสนองบประมาณไป ไป 5 พันกว่าล้านบาท สำนักงบประมาณตัดไปเหลือ 3 พันกว่าล้าน เท่านั้น ทั้งๆ ที่งานเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย สำคัญมาก ถ้าขาดงานหัวใจนี้ไป ก็น่าเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยจะชี้ตรงกัน ไปถึง ป.1  ถ้าพัฒนาการทางสมองเขาช้า เขาจะเรียนช้ากว่าคนอื่น 2 ปี “ นายประสาร กล่าวย้ำ

ประธานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึง ไม่อยากให้ตัดโครงการนี้ ซึ่งตามขั้นตอนกฏหมายมีอยู่ในช่วงแปรญัตติ ของสภาผู้แทนราษฏร ไปจนถึงเดือนมกราคมนี้สำคัญมาก เราจึงหวังจะให้ผ่านการพิจารณา โดยได้ทำหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอคืนงบประมาณส่วนนี้กลับมา เพื่อจะได้ทำเรื่องปฐมวัย

“ที่ผ่านมา เริ่มมี ส.ส.อภิปราย และส.ว.อภิปราย บอกว่า เป็นงานที่ประเทศต้องทำไปตัดเขาทำไม เราก็ทำหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีบอกขอคืนมาเพื่อได้ทำเรื่องปฐมวัยและอีก 3 เรื่องก็ต่อเนื่อง เราอยากให้ข้อมูลข่าวสารนี้แพร่ไปให้สภานิติบัญญัติ ช่วยทำเรื่องปฐมวัย เป็นงานใหญ่ ถ้าผลักดันเรื่องนี้ได้ เราจะช่วยเด็กยากจนพิเศษ 1.5 แสนคน และทำงานให้ลึกขึ้นและติดตาม ทำแบบติดตามได้ แล้วเราก็ตั้งใจว่า คนบริจาคเงิน เราก็ทำเป็นรูปธรรมเอาไปใช้ตรงไหน ก็อยากให้ช่วย ทุนเสมอภาค คือการให้เงินช่วยเหลือเด็กยากจน ที่เข้าถึงการศึกษา” นายประสาร ย้ำ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หวังว่า ถ้าทางรัฐสภาแปรญัตติ กลับมาให้งบตามที่เราขอจะทำให้เราทำโครงการให้เด็กปฐมวัย เป็นหัวใจสำคัญ ของห่วงโซ่ชีวิตคน ถ้าทำให้ดีจะช่วยประหยัดเงินส่วนอื่นๆที่เหลืออีกหลายสิบปี การลงทุนตรงนี้คุ้มที่สุดทำในจุดเริ่มต้นของชีวิตคน

Related Posts

Send this to a friend