HUMANITY

ชัยชนะการคืนสิทธิมนุษยชน ล้างฉายา ‘มนุษย์กินคน’ ให้ ‘ซีอุย’

กรมราชทัณฑ์เตรียมเผาร่าง “ซีอุย” พรุ่งนี้ (23 ก.ค.) คืนสิทธิมนุษยชน ล้างฉายา “มนุษย์กินคน” หลังยุติการจัดแสดงร่าง-ไร้ญาติแสดงตัว

สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับมอบร่าง นายลีอุย แซ่อึ้ง หรือซีอุย จากกรมราชทัณฑ์ เมื่อ พ.ศ.2502 เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางด้านนิติเวชศาสตร์ จนถึงปัจจุบันได้มีการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนได้ทำการยุติการจัดแสดงร่าง และติดตามหาญาติเพื่อมาร่วมพิจารณาการจัดการร่าง แต่ไม่มีญาติมาแสดงตัว

กรมราชทัณฑ์จึงจะดำเนินการเกี่ยวกับศพนายลีอุย แซ่อึ้ง ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 โดยจะเป็นผู้รับร่างซีอุย ไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจตามประเพณี ณ วัดบางแพรกใต้ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ในวันที่ 23 ก.ค. 2563 เวลา 12.30 น. โดยมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีฌาปนกิจ

ร่างที่เคยจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

สำหรับนายลีอุย แซ่อึ้ง หรือ ซีอุย เป็นนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2502 ด้วยคดีสังหารเด็ก 6 คน และยังพบอวัยวะตับและหัวใจในตู้กับข้าวของซีอุย เขาจึงถูกตีตราว่าเป็นมนุษย์กินคน

ภายหลังซีอุยเสียชีวิตคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้ทำเรื่องขอศพซีอุยมาศึกษาเพื่อหาเหตุแห่งความวิปริตผิดมนุษย์ และเก็บศพจัดแสดงไว้ที่ตึกกายวิภาค โดยมีป้ายเขียนว่า “นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)” จนกระทั่งมีแคมเปญรณรงค์ให้นำร่างออกจากพิพิธภัณฑ์ในปี 2562 ทางโรงพยาบาลศิริราชจึงได้ปลดป้ายคำว่า “มนุษย์กินคน” ออก และนำมาสู่การยุติการจัดแสดงร่างของซีอุย รวมถึงการฌาปณกิจศพที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค. 63)

นายฟาโรห์ จักรภัทรานน ผู้ริเริ่มรณรงค์เสนอแคมเปญล่ารายชื่อในเว็บไซด์ Change.org ในหัวข้อ “นำร่าง ซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน”

ผู้สื่อข่าว The Reporters ได้พูดคุยกับนายฟาโรห์ จักรภัทรานน ผู้ริเริ่มรณรงค์เสนอแคมเปญล่ารายชื่อในเว็บไซด์ Change.org ในหัวข้อ “นำร่าง ซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน” เมื่อปี 2562 โดยนายฟาโรห์เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาลศิริราช รวมถึงประชาชนทุกคนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันแคมเปญนี้

นายฟาโรห์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ายินดีที่สุดคือการที่ได้คืนสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนๆ หนึ่งแม้เขาจะเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม โดยเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นอาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ โดยอยากให้นำเรื่องราวของซีอุยมาเป็นแบบอย่างเพื่อให้สังคมมีความตระหนักในเรื่องของสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend