HUMANITY

เยาวชนนอกระบบคลองเตย อาสาช่วยชุมชนรับมือสถานการณ์ COVID-19

‘ชุมชนคลองเตย’ นับว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดแห่งหนึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ด้วยความที่เป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีจำนวนผู้อาศัยมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ความเป็นไปได้ของการระบาดของเชื้อ COVID-19 ดำเนินอย่างรวดเร็วแล้ว สิ่งที่ตามมาคือปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยราว 18, 000 ครัวเรือน ที่กว่า 70% มีอาชีพรับจ้างรายวันต้องขาดรายได้ คนในชุมชนเกือบทั้งหมดจึงตกอยู่ในภาวะรอความช่วยเหลือทั้งจากรัฐและหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ

ในยามที่คนทั้งสังคมกำลังร่วมต่อสู้กับวิกฤตไปพร้อมกันนี้ มีน้อง ๆ เยาวชนนอกระบบในชุมชนคลองเตยกลุ่มหนึ่ง ได้อาสาเข้ามาทำงานเพื่อดูแลช่วยเหลือคนในชุมชน ในการร่วมเฝ้าระวังเรื่องสาธารณสุข และเป็นกำลังสำคัญช่วยบริหารจัดการสิ่งของต่าง ๆ ทั้งน้ำดื่ม อาหาร ยา หรือสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ให้กระจายไปถึงมือของสมาชิกชุมชนอย่างทั่วถึง รวมถึงยังมีเยาวชนในชุมชนที่พร้อมมอบรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อร่วมสมทบทุน ด้วยหวังให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคลี่คลายในเร็ววัน  

เมื่อ ‘ได้รับ’ แล้วเราต้อง ‘ให้’

‘เปรม’ ชลนที เฝือกระโทก อายุ 24 ปี หนึ่งในเยาวชนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษาและได้รับโอกาสการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)และมูลนิธิรวมน้ำใจ(คลองเตย)  น้องเปรมมุ่งมั่นพัฒนาทักษะอาชีพจนวันนี้ประสบความสำเร็จได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ด้วยการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลากัดสำเร็จสามารถสร้างรายได้และยังแบ่งปันกลับไปยังชุมชนที่เติบโตขึ้นมาอีกด้วย

เปรมกล่าวว่า คลองเตยในตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีคนที่ต้องตกเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ขณะที่ความช่วยเหลือ การตรวจคัดกรอง การรักษา หรือการนำรถพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือผู้คนยังทำได้ไม่ทั่วถึง

“ผมทราบดีว่าการนำความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง เพราะเป็นชุมชนที่มีคนอยู่กันเยอะ และการเข้าไปให้ถึงข้างในจริง ๆ ทำได้ไม่ง่าย สิ่งที่เห็นทำให้เราคิดว่าที่นี่คือบ้านของเรา ชุมชนของเรา เราต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ดังนั้นเท่าที่ผมพอมีกำลังทรัพย์อยู่บ้าง เลยตั้งใจเอาเงินที่ได้ส่วนหนึ่งจากการพาะพันธุ์ปลากัดไปซื้อสิ่งของ ซื้ออาหาร ซื้อยา ไปร่วมบริจาคให้พี่น้องในชุมชน ในโครงการ ‘คลองเตยไม่ทิ้งกัน’ ที่ศูนย์พักคอยวัดสะพาน

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดเสมอคือเมื่อ ‘ได้รับ’ แล้วเราต้อง ‘ให้’ ผมได้รับโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิต จากการเข้าโครงการ ทำให้มีความรู้ ได้ปรับความคิดในการดำเนินชีวิต และได้ทุนตั้งต้นมาต่อยอดเป็นอาชีพ ซึ่งช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ที่ผมค่อนข้างเกเร แต่พอได้มาเลี้ยงปลา ก็รู้สึกว่ามีกิจกรรมที่ทำให้ใช้เวลาเป็นประโยชน์มากกว่าเมื่อก่อน ส่วนสำหรับตอนนี้ สิ่งที่ผมคาดหวังคือขอแค่ให้สถานการณ์มันดีขึ้น ให้ชุมชนเราได้รับความช่วยเหลือเต็มที่ แค่นั้นผมก็ดีใจแล้วครับ” เปรมกล่าว

ถ้าชุมชนดีขึ้น คนติดเชื้อน้อยลง ครอบครัวเราก็จะปลอดภัยไปด้วย

‘น้องหมอก’ วิทวัส กรสวัสดิ์ อายุ 15 ปี หนึ่งในกลุ่มเยาวชนอาสาพื้นที่ชุมชนคลองเตย

“ผมเป็นคนในพื้นที่ มาทำงานช่วยครูสอนดนตรีและทำกิจกรรมต่าง ๆ กับน้อง ๆ พอเกิดการระบาดก็ตัดสินใจว่าจะต้องทำในสิ่งที่จำเป็น คือช่วยคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด จุดที่ผมอยู่มีพวกเรา 4-5 คนมาช่วยกัน ยอมรับว่ามีความกังวลบ้างแต่ไม่ได้กลัวกับการติดเชื้อ เพราะเรารู้ว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเต็มที่ ที่อาสาเข้ามาทำเพราะว่าอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น ให้มีคนติดเชื้อน้อยลง และคนที่ติดอยู่ในชุมชนไม่ต้องลำบากมากไปกว่านี้

“กับสิ่งที่ทำผมรู้ว่ามันค่อนข้างมีความเสี่ยง แต่ผมมองว่าคนในชุมชนเขาก็เป็นเหมือนครอบครัวของเรา ถ้าแม่หรือยายผมต้องมาอยู่อย่างนี้บ้าง ผมก็คงอยากให้เขาได้รับการช่วยเหลือดูแลที่ดี เลยอยากทำให้ดีที่สุด เพราะคนที่ติดเชื้อก็เหมือนญาติ เป็นคนรู้จักของเราทั้งนั้น สุดท้ายผมคิดว่าผลที่ได้กลับมาก็ตกอยู่ที่เราเอง ถ้าทุกคนดีขึ้น ติดเชื้อน้อยลง ผมและครอบครัวก็จะปลอดภัยไปด้วย” น้องหมอกกล่าว

คุณค่าของการได้รับโอกาส

ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ‘ครูแอ๋ม’ ผู้รับผิดชอบโครงการ ‘Freeform Learning Project’ หรือ ‘โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย’ ซึ่งเป็นโครงการร่วมพัฒนากับกองทุนเพือ่ความเสมอภาคทางการศึกษา บอกว่า  โครงการ ‘โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย’ โดย ‘กลุ่มคลองเตยดีจัง’ ได้ทำงานร่วมกับ กสศ. ในการใช้ศิลปะและดนตรีเข้ามาพัฒนาเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ จนเมื่อเยาวชนกลุ่มนี้เติบโตขึ้น จึงเกิดเป็นกลุ่มอาสาสมัครสอนดนตรีให้กับน้อง ๆ รุ่นถัดไป และกำลังจะก้าวไปสู่กระบวนการฝึกและสร้างอาชีพในชุมชน จนมาเกิดวิกฤตจากไวรัสโคโรนาขึ้น เยาวชนกลุ่มนี้ได้อาสาเข้ามาช่วยงานชุมชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตั้งแต่เกิดการระบาดรอบนี้ ทีมงานของโครงการเราได้เข้ามาช่วยเรื่องเซ็ตระบบดูแลชุมชน ส่งตัวผู้ติดเชื้อ จัดหาสิ่งต่าง ๆ ให้คนในชุมชน โดยทำงานร่วมกับ กทม. เราก็ได้เด็กกลุ่มนี้ที่อยู่กับโครงการมาตั้งแต่แรกที่เขาอาสาเข้ามาช่วยเรื่องแพคถุงยังชีพ จัดสรรของบริจาคให้กระจายไปถึงคนทั่วชุมชน เด็ก ๆ กลุ่มนี้เขามีใจอยากเข้ามาช่วย เขาอยากดูแลชุมชนของเขาเท่าที่ทำได้ แต่ด้วยสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ทางเราก็พยายามให้เขาได้ทำงานในพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย ยังไม่มีการแพร่ระบาดมากเท่าไหร่ และให้คอยเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของกลุ่มเสี่ยง แต่พื้นฐานคือทุกคนต้องคอยดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ครูแอ๋มกล่าวว่า เยาวชนกลุ่มนี้เป็นคนในชุมชนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านโดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนออกมาในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ว่าพวกเขามีทั้งความรับผิดชอบ มีสำนึกต่อสังคมในด้านการทำงานจิตอาสา มีความเป็นผู้นำ ซึ่งหลายเรื่องสามารถจัดการงานแทนผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่อยู่ในวัยแค่ 15-17 ปี ทำให้การบริหารจัดการเรื่องการส่งของและการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชนได้

“ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างทางสังคมที่หยั่งลึกยาวนาน ได้เผยตัวให้เห็นเด่นชัดขึ้นหลังเกิดวิกฤตจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ในทางกลับกันเราได้เห็นคุณค่าของการได้รับโอกาส และผลลัพธ์ที่สะท้อนออกมาจากศักยภาพที่ซ่อนอยู่และหัวใจอันดีงามของเด็กๆกลุ่มนี้  ยิ่งตอกย้ำให้พวกเราต้องทุ่มเทให้มากขึ้นในการทำงานเพื่อพัฒนาระบบการช่วยเหลือเด็กนอกระบบเป็นรายกรณี เน้นการศึกษาทางเลือก มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้พัฒนาเต็มศักยภาพ ตามความสนใจความถนัด บนพื้นฐานของความเข้าใจในข้อจำกัดและสภาพปัญหารายบุคคล เพื่อแก้ปัญหาเด็กๆกลุ่มนี้ได้อย่างยั่งยืนจริงๆ”  

Related Posts

Send this to a friend