EVENT

วิศวะมหิดล คิดค้น ‘จดจำ’ อุปกรณ์จดบันทึกเพื่อผู้พิการทางสายตาต้นทุนต่ำ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบพัฒนา ‘จดจำ’ อุปกรณ์จดบันทึกสำหรับผู้พิการทางสายตาแบบต้นทุนต่ำ ลดความเหลื่อมล้ำแก่เยาวชนและผู้พิการทางสายตาที่มีรายได้น้อยในการเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และสร้างอนาคตที่ดี ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ นำร่องส่งมอบล็อตแรก 20 เครื่อง แก่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ

รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตากว่า 150,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเพียง 2,000 คน หรือเฉลี่ยเพียง 200 คนต่อปีเท่านั้น ที่มีโอกาสได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งเด็กตาบอดเหล่านี้พบอุปสรรคในการเรียนหนังสือ เช่น การจดบันทึกในห้องเรียน ซึ่งเทคโนโลยี Braille Note-Taker อุปกรณ์ช่วยการจดบันทึก มีราคานำเข้าสูงมากประมาณ 50,000 – 200,000 บาท อีกทั้ง ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานน้อย จึงไม่ดึงดูดให้เกิดงานวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีนี้

อย่างไรก็ตาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับสถาบันราชสุดา ออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ ‘จดจำ’ แบบต้นทุนต่ำราคาหลักพัน ช่วยเหลือเยาวชนและผู้พิการทางสายตาในการจดบันทึก เพิ่มคุณภาพชีวิตและโอกาสในการศึกษาไทย นำพาสู่สังคมที่เราทุกคนก้าวไปด้วยกัน

ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ หัวหน้าโครงการและอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนา ‘จดจำ’ อุปกรณ์จดบันทึก เริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ‘รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ’ ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2555 ช่วงแรกของการพัฒนา ‘จดจำ’ มาจากฟังก์ชั่นของโทรศัพท์มือถือที่รองรับสำหรับผู้พิการทางสายตา ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานได้ลำบาก เช่น การพิมพ์ข้อความ ซึ่งต้องใช้การสัมผัสหน้าจอเคลื่อนที่หาทีละตัวอักษร และไม่เหมาะกับการนำมาใช้บันทึก รวมถึงเทคโนโลยีการเปลี่ยนเสียงเป็นตัวอักษร ซึ่งยังคงมีข้อผิดพลาดและห้ามมีเสียงรอบข้างรบกวน

ตามที่กล่าวไป ทีมวิจัยวิศวะมหิดลจึงพัฒนาอุปกรณ์ ‘จดจำ’ เพื่อตอบโจทย์การจดบันทึกของผู้พิการทางสายตา โดยเครื่อง ‘จดจำ’ มีลักษณะเป็น ‘แป้นพิมพ์ที่มีอักษรเบรลล์’ มีหน่วยความจำในตัว สามารถจดบันทึกและส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ในรูปแบบไฟล์ตัวหนังสือ สามารถควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาจดบันทึกได้สะดวก พกพาง่าย

นอกจากนี้ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ยังเสนอแนวทางที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนตาบอดทั่วประเทศ ให้เข้าถึงอุปกรณ์นี้ได้ โดยเปิดให้สังคมมีส่วนร่วมในการสนับสนุนผ่านโครงการ ‘จดจำทั่วไทย’ เพื่อผู้พิการทางสายตา ตั้งเป้าหมายส่งมอบจำนวน 200 คนต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้รับทุนบริจาคสนับสนุนรายแรกเพื่อผลิต ‘เครื่องจดจำ’ จำนวน 40 เครื่อง จาก บริษัท เอสแอนต์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ส่งมอบล็อตแรกแก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ จำนวน 20 เครื่อง

Related Posts

Send this to a friend