EVENT

ทีมเยาวชน จาก 5 มหาวิทยาลัย คว้ารางวัล TikTok

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับไทยพีบีเอส ม.ธุรกิจบัณฑิตย์จัดงานประกวดการผลิตสื่อ TikTok รู้เท่าทันข่าวปลอมทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม กรรมการตัดสินประกอบด้วย พี่แยม ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters พี่ต่าย กนกพร ประสิทธิ์ผล Thai PBS พี่เอก ธนกร วงษ์ปัญญา The Standard พี่ขจร เจียรนัยพานิชย์ The Zero Publishing เป็นผู้ตัดสินและวิพากษ์ผลงาน TikTok เยาวชนการเมืองข่าวปลอมจาก 18 ทีม13 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) – มธ.- ไทยพีบีเอส ผนึกกำลังสร้างพื้นที่เยาวชน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเปิดงานว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเห็นถึงบทบาทสำคัญของสื่อในการช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปสู่สังคม เพื่อนำส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของภาคประชาชน ดังนั้น กิจกรรมการผลิตสื่อ TikTok รู้เท่าทันข่าวปลอมทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการ การเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม กับความร่วมมือของสถาบันวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จึงเป็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรมที่นำเสนอไปสู่สังคม และสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมในระยะยาวสืบไป นอกจากนี้ ผลผลิตจากโครงการนี้คือ การสร้างกลไกแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พันธกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากจะเป็นสถาบันการศึกษาที่บ่มเพาะวิชาความรู้ให้แก่เยาวชนแล้ว อีกหนึ่งพันธกิจที่สำคัญคือการทำประโยชน์ให้แก่สังคมในบทบาทที่วิชาการที่เอื้อประโยชน์ได้ ดังนั้นโครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากจะได้องค์ความรู้จากกิจกรรมสร้างแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม นำไปสู่การสร้างกลไกแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และที่สำคัญสร้างเครือข่ายเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ขณะเดียวกัน งานจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ ถ้าฝ่ายวิชาชีพที่มีความชำนาญการทางด้านสื่อไม่ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนของชาวไทยพีบีเอสทุกคนเพื่อย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ยังสัญญาว่า เราจะเป็นองค์กรสื่อสาธารณะเพื่อประชาชนทุกคน

“สิ่งที่เราชูเป็นจุดยืนของสื่อสาธารณะเสมอคือคำว่า Impartial News ไม่ว่าใครจะโจมตีเราอย่างไร แต่ดิฉันเชื่อว่า พวกเราสื่อสาธารณะยังยืนหยัดอยู่บนคำว่า Impartial News ซึ่งหมายความว่า สื่อที่ไม่มีวาระแอบแฝง ซึ่งการจะบอกว่าเราเป็นสื่อที่ไม่มีวาระแอบแฝงได้ ต้องผ่านการถูกโจมตี ถูกปฏิบัติการข่าวสาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ขณะเดียวกันเราก็อาจจะมีจุดอ่อนและจุดพลาดในบางเรื่อง ซึ่งเราก็เรียนรู้และทบทวนตัวเองแต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าการยืนหยัดอยู่บนคำว่า Impartial News ซึ่งประกอบด้วยคำว่า Fairness คือการรายงานข่าวที่เป็นธรรม การรายงานข่าวที่ Accurate หรือถูกต้อง และที่สำคัญคือการรายงานข่าวที่ไม่มีอคติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มทุน กลุ่มรัฐ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงอยากยืนยันว่า Impartial News ยังเป็นหัวใจสำคัญของสื่อสาธารณะ และยังเป็นสิ่งที่ทุกคนวางใจเราได้ดิฉันจึงอยากโยนมาที่งานที่น้อง ๆ กำลังจะนำเสนอกันในวันนี้ การทำหน้าที่เป็นพลังพลเมืองเพื่อเป็น Fact Checker ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่ได้มีเพียงแค่ข่าวลวง ข่าวบิดเบือนเท่านั้น ดิฉันคิดว่าในปรากฏการณ์ที่ใกล้การเลือกตั้งเข้ามาทุกที ทำให้มีการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เราจะรู้ได้อย่างไร และเราจะลุกขึ้นมาเป็นพลังให้สังคมได้อย่างไร ดิฉันเชื่อว่า องค์กรสื่อจับมือกับภาควิชาการ ภาควิจัย และกำลังสำคัญอย่างพลังเยาวชน จะทำให้การทำหน้าที่เป็น Fact Checker ให้สังคมมีความสำคัญยิ่งขึ้น”

ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ทุกวันนี้โจทย์ใหญ่โจทย์เดียวของสื่อสาธารณะทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น NBC, NHK, CBC และอื่น ๆ คือ เราจะปรับตัวให้สื่อสาธารณะเป็นสื่อของเยาวชนได้อย่างไร เพราะถ้าเรายังเป็นสื่อของคนรุ่นเดิม อีกหน่อยสื่อสาธารณะก็พร้อมปิดตัวเอง การจะเป็นสื่อของเยาวชน เราคงต้องหาคำตอบเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปรับตัวเองในฐานะ Media ในช่องทางสื่อที่เยาวชนใช้งาน เช่น TikTok ที่น้อง ๆ กำลังทำอยู่ หรือเรื่องของ Content ซึ่งเราเชื่อว่า เยาวชนไม่ได้อยากเสพแค่คอนเทนต์เบา ๆ สนุก ๆ เยาวชนอาจจะอยากเสพคอนเทนต์ที่ลึก หนัก แต่ไม่เยอะ สุดท้ายที่ดิฉันคิดว่าสำคัญที่สุดคือ Engagement เราจะเข้าใจเยาวชนและ Engage กับพวกคุณซึ่งกันและกันได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่สื่อสาธารณะทั่วโลกกำลังหาคำตอบ

มอ.ปัตตานี ราชภัฏยะลา มหาสารคาม มศว. มธ. คว้ารางวัล TikTok เยาวชนการเมืองข่าวปลอม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้าโครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอมกล่าวว่า ทีมบูมีตานี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประเด็น สำนึกท้องถิ่น-อัตลักษณ์:ซอฟท์พาวเวอร์หรือภัยความมั่นคง? ได้รางวัล Exclusive Content ข้อมูลเชิงลึกหรือมีประโยชน์ โดยนำเสนอคลิปที่มีข้อมูลเชิงลึก เป็นประโยชน์ หรือมีความแปลกใหม่ที่ผ่านการรวบรวม ค้นคว้า และนำมาเรียบเรียงใหม่จนกลายเป็นผลงานที่มีประโยชน์ต่อผู้ชม

ทีมTNK TEEM จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประเด็น กัญชาฮารอมหรือไม่ฮารอม ได้รางวัล Creative Content Specialist ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ผู้ชนะสามารถนำเสนอคลิปที่มีความสร้างสรรค์ในวิธีการนำเสนอ ที่แปลกใหม่ หรือโดดเด่นจากการนำเสนออย่างชัดเจน ทีม Sarakham Fact Check จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเด็น บุหรี่ไฟฟ้า ได้รางวัล Unique Editor การตัดต่อหรือเทคนิคการนำเสนอยอดเยี่ยม โดยสามารถนำเสนอคลิปที่มีการใช้เทคนิคการตัดต่อที่แตกต่าง โดดเด่น สร้างเอกลักษณ์ ที่ทำให้คลิปไม่น่าเบื่อ ดูสนุก

ทีม มศว.จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับซีอุย ได้รางวัล Excellent Word ภาษาสร้างสรรค์ โดยมีการใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดการสร้างอคติและความเกลียดชัง และทีม The Movement จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประเด็น เยาวชนกับข่าวปลอมทางการเมือง ได้รางวัล Smiling World เนื้อหาสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้กับคนดู ที่สามารถทำให้คนดูสนุกสนานไปจนตลอดคลิปและได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

หัวหน้าโครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอมกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวทีมวิจัยเล็งเห็นความสำคัญของคำ 3 คำคือ คำว่า เยาวชน การเมือง และข่าวปลอม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยเห็นพลังเยาวชนออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกันเราเห็นข่าวปลอมแพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์อย่างน่าหวั่นวิตก เราจึงมามองว่าในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ หรือที่หลายคนมักเรียกแทนด้วยคำว่า “ข่าวปลอม” นั้น เยาวชนถือว่ามีส่วนสำคัญมากในการต่อสู้กับข่าวปลอม เพราะพฤติกรรมการเสพข่าวสารของเยาวชนอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด และในสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ที่แพร่กระจายข่าวปลอมในรูปแบบต่าง ๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสาร ดังนั้น เยาวชนถือเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้แพร่กระจายข่าวปลอม โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเมือง ที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองในมิติลบการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยตลอด พ.ศ.2563 – 2565 เป็นปรากฎการณ์ที่สังคมไทยไม่ควรมองข้าม ควรพิเคราะห์ถึงต้นตอของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน และค้นหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว

“เกิดคำถามว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทย ถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่เกิดคำถามอีกว่า ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์มีผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเบื้องต้น ในการค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอมผ่านกิจกรรมความรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการรู้เท่าทันข่าวปลอม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณกล่าวถึงที่มาของโครงการ

อาจารย์ ดร.นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป นักวิจัยและผู้แนะนำการผลิต TikTok ในส่วนประเด็นและเนื้อหากล่าวว่า กล่าวว่า จาก 18 ทีม 13 มหาวิทยาลัยที่ส่ง TikTok เยาวชนการเมืองข่าวปลอมเข้ามาพบว่า ทั้ง 18 ทีมมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องของผลกระทบในวงกว้าง เรื่องใกล้ตัวในพื้นที่ของนักศึกษาเอง หรือกระแสข่าวที่เกิดขึ้นที่เป็นที่สนใจของสังคม เช่นทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีที่นำเสนอเรื่อง เปอร์มูดอหรือการชุมนุมของกลุ่มวัยรุ่นชายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำเป็นประจำทุกรายอที่3 เป็นการสะท้อนของเรื่องวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แต่ถูกตีความในมิติของความมั่นคงในฝั่งของฝ่ายปกครอง หรือการนำเสนอเรื่องการเมืองในมิติประวัติศาสตร์ของทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยาที่นำเสนอเรื่อง ประวัติศาสตร์พม่าเผากรุงศรีอยุธยาเพื่อเอาทองที่เราเคยเรียนในเนื้อหาประวัติศาสตร์ตำราเรียนในอดีต นักศึกษาได้พยายามสืบค้นหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวและพบว่ามีความเป็นจริงในบางส่วนเท่านั้น ประเด็นเนื้อหาที่นักศึกษาทีมต่างๆทำเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและความเข้าใจการผลิตเนื้อหาที่จำเป็นต้องสืบค้นมากยิ่งขึ้นในมิติของการทำข่าว และยังมีกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอมที่เกิดขึ้นโดยไม่เชื่อตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในทันที

อาจารย์ พลสัน นกน่วม นักวิจัยและผู้แนะนำการผลิต TikTok ในส่วนของการสร้างสรรค์วิธีการเล่าเรื่อง และการตัดต่อวิดิโอคลิปขนาดสั้น ในฐานะที่ปรึกษา และให้คำแนะนำแก่นักศึกษา ที่เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า โครงการแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาจากทุกภาคของประเทศไทย ได้มีโอกาสได้แสดงศักยภาพในการผลิตผลงานคลิปขนาดสั้นขึ้นอย่างเต็มที่ในเวลาที่จำกัดภายใต้โจทย์ที่กำหนด ซึ่งแม้จะมีความยาก รวมถึงต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ ในการผลิตชิ้นงานขึ้นมาจำนวน 3 ชิ้น ทั้งในแง่ของเทคนิคการตัดต่อ การถ่ายทำ ไปจนถึงในกระบวนการโปรดักชั่นแล้ว ยังต้องใช้ความสามารถในการมองหาเป็นประเด็นสำหรับที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และข่าวปลอม ซึ่งต้องใช้การตีความที่ค่อนข้างสูง การหาแหล่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนเนื้อหารวมถึงต้องทำความเข้าใจประเด็นเป็นอย่างมาก แต่นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมสามารถนำเสนอผลงานออกมาได้อย่างหลากหลาย ภายใต้โจทย์ที่กำหนดออกมาได้อย่างดี รวมถึงยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของเยาวชน ที่มองประเด็นของเรื่องข่าวปลอม และการเมือง ในมุมมองที่น่าสนใจ และทำให้ได้เห็นว่าเยาวชนคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นเหล่านี้ ขณะเดียวกันในแง่ของการนำเสนอออกมาเป็นคลิปวิดีโอขนาดนั้นสั้น แต่ละกลุ่มก็ผลิตผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ มีเอกลักษณ์ และมีศักยภาพในการผลิตชิ้นงานจริงได้อย่างดีเยี่ยม

Related Posts

Send this to a friend