ฟื้นฟูสมดุลระบบนิเวศป่ายชายเลน สมุทรสาคร สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

โครงการ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับชุมชนช่วยฟื้นฟูสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลน 2,388 ไร่ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร สงขลา พังงา และชุมพร อาทิ ป่าชายเลนที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งภายหลังการอนุรักษ์และฟื้นฟูพบว่ามีการตกตะกอนของชั้นดินสูงขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ผืนป่าที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ปริมาณสัตว์น้ำกลับเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น เช่น ปูแสม ปูก้ามดาบ หอยแครง หอยเสียบ หอยกระปุก เป็นต้น รวมทั้งสัตว์ที่หายไปจากพื้นที่เป็นเวลาหลายปี เช่น หอยพิม ทำให้ชุมชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่กับให้ความสำคัญในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหาร โดยได้ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่
เป้าหมายของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในระยะต่อไป คือ มีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับปรุงสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
สำหรับโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ปี 2562-2566 เป็นการต่อยอดโครงการระยะที่ 1 (ปี 2557-2561) ซึ่งซีพีเอฟร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และชุมชน ฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก ปลูกป่าใหม่ 104 ไร่ ดูแลและอนุรักษ์ป่าเดิม 500 ไร่ โดยในช่วง 5 ปีของโครงการระยะแรกสามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนไปแล้วรวม 2,388 ไร่ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร สงขลา พังงา และชุมพร
นอกจากสภาพป่าชายเลนที่กลับมาอุดมสมบูรณ์แล้ว ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนกิจกรรมที่มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมอบเงินสำหรับเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ดูแลและบริหารโดยชุมชนเอง สามารถนำไปส่งเสริมด้านอาชีพของชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้ และได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน 2 พื้นที่ คือ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต. ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวและนำเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนฯ ใช้ในการอนุรักษ์และดูแลป่าอย่างยั่งยืน