ENVIRONMENT

“น้ำมันรั่วระยอง” ครบ 9 ปี ผู้เสียหาย-นักวิชาการ-ทนาย-สื่อ เผยการเยียวยายังไม่แล้วเสร็จ รั่วซ้ำอีกเมื่อต้นปี

วันนี้ (27 ก.ค. 65) ครบรอบ 9 ปีเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จังหวัดระยอง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ภาคประชาชน นักวิชาการ นักกฎหมายและสื่อมวลชน จึงร่วมจัดวงเสวนาแลกเปลี่ยน “น้ำมันรั่วระยอง 9 ปี การเยียวยายังไม่แล้วเสร็จ” เพื่อทบทวน ถอดบทเรียนจากปี 56 ถึงปี 65 ที่ยังเกิดเหตุน้ำมันรั่วซ้ำซาก การเยียวยาฟื้นฟูในพื้นที่และผลกระทบอย่างถาวรต่อสภาพแวดล้อมในท้องทะเลระยอง กระทบวิถีชีวิตของคนระยอง

นวรัตน์ ธูปบูชา ตัวแทนแม่ค้าและอาชีพต่อเนื่องจากประมง กลุ่มโบสถ์ยวน ระบุว่า จากเหตุน้ำมันรั่วปี 56 ตนไม่ได้รับเงินเยียวยา ถูกปฏิเสธเพราะไม่เข้าข่ายผู้เดือดร้อน จึงเรียกร้องทุกช่องทางจนต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องคดี สุดท้ายศาลเห็นความเสียหายจึงได้รับเงินเยียวยาด้วยความเป็นแม่ค้าที่ต้องพึ่งกับชาวประมง ปัจจุบันชาวประมงระยองไม่สามารถหาสัตว์น้ำได้ในทะเลระยองเลย ต้องออกเดินทางไปไกลขึ้น เสียต้นทุนเวลาค่าใช้จ่ายมากขึ้น สัตว์น้ำที่มาขายเป็นของจังหวัดอื่น ต้นทุนก็สูงขึ้น ราคาก็แพงขึ้น ทำให้การค้าขายไม่ดีเท่าเมื่อก่อน จำเป็นต้องหาอาชีพเสริม ราคาสัตว์น้ำระยองแพงมากเพราะหาไม่ได้ คนระยองต้องบริโภคสัตว์น้ำในราคาที่สูงขึ้น

บรรเจิด ล่วงพ้น รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ระบุว่า ระยองมีพื้นที่ติดทะเลกว่า 100 กม. มีประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยรกรธรรมชาติที่สมบูรณ์ประกอบอาชีพกับทะเลกันมาก จนกระทั่งปี 2532 มีเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเข้ามา มีความเปลี่ยนแปลง จนมีอาฟเตอร์ช็อคในวันนี้ 27 ก.ค. 2556 เกิดน้ำมันรั่วไหล ไม่มีข้อมูลปริมาณสารที่แท้จริงแต่ขัดแย้งกับหลักการ การรับผิดชอบในเบื้องต้นเชิงประจักษ์ต้องใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะมีแนวทางเยียวยา ทั้งสัตว์น้ำที่บริโภคไม่ได้และอุปกรณ์ประกอบอาชีพที่พังเสียหายจึงต้องไปเรียกร้องความเป็นธรรม ผู้ที่ทำละเมิดไม่มีการดูแลอะไรเลยจึงได้มีการรวมตัวกันไปที่บริษัทเรียกร้องให้มีการพูดคุยเจรจาและยื่นต่อทุกหน่วยงานแต่ไม่ได้ผล จึงต้องพึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สุดท้ายต้องมีการฟ้องร้อง กระทั่งปัจจุบันคดีความยังไม่จบอยู่ในชั้นฎีกา และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหลังเหตุน้ำมันรั่ว เช่น กุ้งเคย ที่เคยมีในจังหวัดระยอง ตอนนี้ไม่มีแล้วเพราะคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เมื่อทรัพยากรเปลี่ยนไปทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพไปเลย

“… ทะเลไม่ใช่กะละมัง ไม่ใช่บ่อปลา ที่จะฟื้นฟูเหมือนตอนเราล้างบ่อ เราจึงเสนอการศึกษาเรื่องทะเลระยองอย่างละเอียด ควบคุมมลพิษต่างๆ ลดละเลิกการปลดปล่อยสารพิษ เสนอให้มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษเพื่อป้องกัน เสนอมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉินในการขนถ่ายการขนส่งต่างๆ ล่วงหน้าเป็น 10 ปีแล้ว และแล้วก็ยังไม่มี และไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้นจนเกิดปัญหาขึ้นซ้ำอีก…” บรรเจิด กล่าว

ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า เหตุที่ช็อคที่สุดครั้งที่น้ำมันรั่วเมื่อ 9 ปีที่แล้ว คือธุรกิจปิโตรเลียมในระยองทันสมัยที่สุดในอาเซียน แต่หลังเกิดน้ำมันรั่วในเช้าวันที่ 27 ก.ค. 56 ทำให้รู้ว่าธุรกิจชั้นนำเหล่านั้นไม่มีมาตรการรองรับความบกพร่องในเหตุน้ำมันรั่วเลย เราพบว่าเรือใช้กำจัดน้ำมันขณะนั้นมี 2 ลำแต่อยู่ในภาคใต้ สารที่ฉีดพ่นให้น้ำมันตกสู่ท้องทะเลก็เอามาจากสิงคโปร์ ภาคราชการมีกรรมการป้องกันน้ำมันรั้วในทะเล แต่เราพบว่าไม่เคยมีการประชุมเลย ทำให้เราเห็นว่าไม่มีการเตรียมการในเรื่องนี้

เมื่อปี 2556 เจ้าของบริษัทที่ทำน้ำมันรั่ว เป็นคนจัดการทั้งหมด เมื่อเอกชนจัดการทั้งหมดทำให้ข้อมูลทั้งหมดออกมาจากเอกชน ทั้งปริมาณน้ำมันที่รั่ว ปริมาณสารกำจัดคราบน้ำมัน นักวิชาการมองว่าไม่โปร่งใส ในทางวิชาการได้ยื่นข้อมูลในศาลเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่ว ที่บอกว่ามีน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร แต่หากคำนวณจากคำขอใช้สารกำจัดคราบน้ำมันกว่า 37,000 ลิตร ซึ่งตามหลักวิชาการจะจัดการน้ำมันได้ 10 เท่าของประมาณสารกำจัดฯ ซึ่งหากคำนวณแล้วคาดว่ามีน้ำมันรั่วอย่างน้อย 370,000 ลิตร และนักวิชาการประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วคาดว่ามีน้ำมันรั่วไหลไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนลิตร

“…เอกชนมักพูดว่าสารกระจายคราบน้ำมันไม่มีอันตราย สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และ

ดร.อาภา ระบุว่า ในข้อเท็จจริงพบว่าน้ำมันก็มีความเป็นพิษสูงมาก เพราะมีองค์ประกอบของสารก่อมะเร็ง สารมีพิษต่อระบบสืบพันธ์ สารมีพิษต่อสัตว์ทะเลและสิ่งมีชีวิต มีโลหะหนัก การที่น้ำมันรั่วแล้วเรากดลงไปข้างล่างความเป็นพิษในน้ำมันไม่หายไปไหน และส่งสารพิษต่อไปในห่วงโซ่อาหาร รวมถึงสารกระจายคราบน้ำมันก็มีพิษ มีองค์ประกอบที่มีผลต่อตัวอ่อนปะการัง

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คิดว่ากรณีน้ำมันรั่วที่ระยองเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นผลจากธุรกิจที่กระทบกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เกิดความไม่เป็นธรรม รัฐให้โอกาสทุนผูกขาด เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ และไม่ปกป้องการสูญเสียของประชาชน เป็นต้นตอความเหลื่อมล้ำ

นพ.นิรันดร์ เรียกร้องให้รัฐปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน ใช้กฎหมายบังคับให้เอกชนรับผิดชอบในข้อผิดพลาด เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ศึกษาผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยองค์กรวิชาการ เพื่อระบุว่าเอกชนต้องรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ต้องทำให้เกิดผลเชิงประจักษ์ว่ามีผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเลอย่างไร เพราะย่อมมีผลต่อการประกอบอาชีพและโอกาสในการบริโภคทรัพยากรของประชาชน ทำให้เปิดเผยโปร่งใสและให้สังคมมีส่วนร่วม

ด้าน วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่าเมื่อตอนที่เกิดเหตุเมื่อปี 2556 ได้มีการทำแผนเพื่อป้องกันเกิดการเกิดเหตุซ้ำในกรณีน้ำมันรั่วในทะเล แต่สุดท้ายแล้วเมื่อปี 2565 ก็กลับเกิดเหตุซ้ำอีกและแผนนั้นก็ยังไม่ถูกใช้งาน พร้อมกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่เชื่อว่าศาลจะเป็นที่พึ่งเท่านั้น แต่เชื่อว่าตัวเองเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุด ประชาชนต้องเข้มแข็งและมีความหวังในการต่อสู้เรียกร้อง การนำหลักฐานต่างๆที่ชุมชนแสวงหาเข้าไปเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม เกิดจากตัวชุมชนและชาวบ้านเอง เพียงใช้กระบวนการทางศาลในการเป็นช่องทางเข้าสู่การเยียวยา เมื่อหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้การเยียวยากับประชาชนได้

วีรวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายในการต่อสู้เรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคือ ในช่วงแรกของการฟ้องร้อง บริษัทเอกชนมุ่งคุยเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายก่อนมาตรการการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสียหายจากเหตุน้ำมันรั่ว แต่ประชาชนยังยืนยันถึงเรื่องการฟื้นฟูที่เป็นสิ่งสำคัญเพราะทะเลคือแหล่งในการประกอบอาชีพและรักษาทรัพยากรให้กลับมาเป็นดังเดิม ซึ่งเป็นจิตสำนึกของประชาชนที่มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นข่าวใหญ่สิ่งแวดล้อม แต่ข้อมูลที่รัฐและเอกชนให้กลับมีความคลุมเครือ ผู้สื่อข่าวมีข้อมูลที่มีไม่มากนัก ทำให้ข่าวสิ่งแวดล้อมกลายเป็นข่าวอุบัติเหตุ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะทำข่าวสืบสวนสอบสวน พอเวลาผ่านไปข้อมูลก็หายไป ข้อมูลหายากขึ้น

ฐิติพันธ์ ยกกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกเกิดรั่วไหลในปี 2010 ตอนแรกทุกคนก็คิดว่าเกิดจากอุบัติเหตุทั่วไป แต่เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนอย่างลงลึก ข้อมูลถูกเปิดเผย ปรากฏว่าเหตุเกิดจากนโยบายหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บริหารที่เชื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดมากกว่าวิศวกรประจำแทนขุดเจาะ ที่หวังจะขุดน้ำมันออกมาในปริมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งคิดว่าหากประเทศของเรามีการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมและสื่อมวลชนอย่างไม่ปกปิด จะสามารถนำไปสู่การนำเสนอข่าวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องน่าเสียดายของประเทศไทย

ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ที่ปรึกษากลุ่มโบสถ์ญวน ระบุว่า ผ่านมา 9 ปี จนตอนนี้ เอกชนก็ยังไม่มีทุ่นอุปกรณ์กันแนวน้ำมันรั่วอยู่เหมือนเดิม แต่มีสารที่มาฉีดเร็วกว่าปี 56 ไม่สรุปบทเรียนว่าจะดีขึ้นอย่างไร พร้อมระบุว่า เขาใช้อำนาจเผด็จการลงไปในทะเลระยอง ไม่ให้ใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ให้ใครรายงานข่าวได้เต็มที่เหมือนกับปี 2556 พร้อมทั้งคำถามว่าใช้อำนาจรัฐทำเพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อทุน

“…ทันทีที่มีน้ำมันรั่วลงในทะเลและมีการฉีดซ้ำให้น้ำมันจมดิ่งสู่ก้นทะเล ความเสียหายสูงสุดไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะเกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีหลังจากนั้น ชาวบ้านเคยเอาปลาไปศาลเมื่อเหตุผ่านไป 3 ปี (น้ำมันรั่วปี 56) เป็นปลาคือการสันหลังคด เป็นปลาที่มีแผล และเหตุเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว (เดือนม.ค. ปี 2565) ที่มีน้ำมันรั่วอีก อีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการเยียวยา จะบอกว่าจ่ายเพียงแค่ 1-2 เดือนก็พอแล้ว จริงๆแล้วพอหรือไม่ นักวิชาการที่มีจิตสำนึกสรุปได้อย่างไรเกี่ยวกับพิษในทะเลระยอง…” ชาญวิทย์ กล่าว

สุดท้ายแล้ว น้ำมันรั่วในทะเลระยอง ผ่านมาแล้ว 9 ปี การเยียวยายังไม่แล้วเสร็จ และยังมีการรั่วซ้ำในต้นปี 2565 อีก คนระยองยังต้องการทะเลที่ดี ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ บริษัทเอกชนเจ้าของธุรกิจต้องดูแลฟื้นฟูและเยียวยาอย่างเป็นธรรม รัฐต้องบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เรื่องนี้เกิดความโปร่งใส คุ้มครองสิทธิของประชาชน และการเยียวยาไม่ใช่แค่เม็ดเงิน แต่คือการฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมให้ทะเลเกิดความยั่งยืน “คืนทะเลระยองให้คนระยอง”

เรื่อง : ทศ ลิ้มสดใส
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat