ENVIRONMENT

วิจารณ์หนัก PPP โครงการผันน้ำยวม สร้างดีมานด์เทียม-นักการเมือง-ผู้รับเหมาได้ประโยชน์

วันนี้ (25 ก.ค.65) ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการเสวนาเรื่อง “ทุนร่วมรัฐจากแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ดร.มาโนช โพธาภรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.สิตางศ์ พิลัยหล้า อาจารณ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการผันแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลและผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 50 คนเข้าร่วม

ดร.ชยันต์ วนภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ มช. กล่าวว่า บทบาทเขาเราคือทำอย่างไรให้โครงการขนาดใหญ่ได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ซึ่งโครงการผันแม่น้ำยวมครั้งนี้มีปัญหาตั้งแต่การทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เราได้ลงไปในพื้นที่ตั้งแต่ต้น กลางและปลายอุโมงค์เพื่อทำความเข้าใจโครงการขนาดใหญ่นี้และสอบถามชาวบ้านว่าได้รับรู้เกี่ยวกับอีไอเอหรือไม่ ปรากฏว่าชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้ไม่คุ้นเคยกับภาษาราชการ ประเด็นสำคัญคือเรื่องของการลงทุนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชนหรือPPP ซึ่งเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านอกจากเรื่องผลกระทบแล้วยังมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างการร่วมทุนของโครงการนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหม่

สิตางศ์ พิลัยหล้า กล่าวว่า โครงการนี้ผิดมาตั้งแต่การตั้งโจทย์เพราะปัญหาของลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือขาดแคลนน้ำจริงหรือไม่ และมีแนวทางแก้ปัญหาหลายวิธี แต่การหาน้ำมาเติมเป็นวิธีการถนัดของกรมชลประทาน ล่าสุดคือการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำซึ่งทำให้เท่าไหร่น้ำก็ไม่เพียงพอ แต่กรมชลประทานไม่เคยพูดถึงเรื่องการลดใช้น้ำหรือทางเลือกอื่น การเลือกโครงการผันน้ำยวมนี้ข้ามทุกทางเลือกเสมือนเป็นทางออกเดียว ดังนั้นจึงเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน นอกจากนี้โครงการใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลมีความคุ้มค่าหรือไม่โดยเฉพาะการเอาพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 มาสร้างอุโมงค์ และปกติการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมต้องสมดุลกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคือทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาคือพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯทำหน้าที่ประธานทำให้เกิดคำถามว่าอะไรคือความสมดุล

“โครงการนี้ไม่ใช่ทำเพื่อแก้ปัญหา แต่ทำเพราะอยากจะทำ ตัวเลขของสนทช.ความต้องการน้ำลุ่มเจ้าพระยา 7,900 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อปี แต่มีน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 3,900 ลบ.ม. ต้องมาดูว่าน้ำขาดจริงหรือไม่ จากการที่ดิฉันคำนวณน้ำท่าเฉลี่ยที่นครสวรรค์มีอยู่ 21,100 ลบ.ม. และความต้องการน้ำมีราว 18,000 ลบ.ม.ซึ่งแตกต่างจากที่บริษัทที่ปรึกษาประเมินไว้ 30,000 ลบ.ม. และมีแนวโน้มว่าการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจะลดลง ดังนั้นจึงมีคำถามว่าลุ่มเจ้าพระยาขาดแคลนน้ำหรือขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดีกันแน่ อย่าลืมว่าเราเกิดน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาแบบปีเว้นปี” สิตางศ์ กล่าว

หาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวว่า กรมชลประทานบอกว่าหากลงทุนสูงนั้น ไม่มีงบจึงต้องร่วมทุนโดยนักการเมืองคนหนึ่งบอกว่านักลงทุนมาจากประเทศจีน แต่สิ่งหนึ่งที่เอกชนทำไม่ได้คือการเวนคืนที่ดินซึ่งต้องให้กรมชลประทานดำเนินการ และจนปัจจุบันการเวนคืนที่ดินบริเวณแม่น้ำยวมก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น หากเวนคืนไม่ได้หรือช้าออกไป ใครจะแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

“โครงการนี้เป็นการสร้างความต้องการเทียมหรือดีมานเทียม และไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือชาติพันธุ์ แต่เป็นการมุ่งไปที่การลงทุนและถอนทุน การลงทุนนับแสนล้านบาท ใครเป็นคนจ่าย เพราะเก็บน้ำจากเกษตรกรไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้าม ฉะนั้นมีอย่างเดียวที่ทำได้คือลักไก่เพราะมีความเสี่ยงทุกประเด็น โครงการนี้คนที่ได้ประโยชน์แท้จริงคือผู้รับเหมาและนักการเมืองที่ผลักดันโครงการ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบท้ายสุดก็ต้องถูกทำให้แยกย้ายหนี” นายหาญณรงค์ กล่าว

ประธานมูลนิธิการบูรณาการจัดการน้ำฯกล่าวว่า โครงการนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าการลงทุนครั้งนี้จะไปเก็บเงินกับใคร สุดท้ายกลายเป็นค่าโง่อย่างไม่สิ้นสุดเหมือนกับค่าโง่ในโครงการอื่นๆที่รัฐต้องเสียไปแต่ไม่เคยเรียนรู้ จริงๆ แล้วรายงานผลการศึกษาโครงการรัฐร่วมทุนเอกชนหรือ PPP ควรทำให้เสร็จก่อนทำอีไอเอให้เสร็จก่อน

มาโนช โพธาภรณ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของโครงการนี้คือการผันน้ำโดยเอาน้ำส่วนเกินจากแห่งหนึ่งไปใช้อีกที่หนึ่ง แต่ครั้งนี้น้ำไม่ได้มีจริงและสนองตอบต่อความต้องการอย่างที่รัฐว่าไม่ได้ การจะผันน้ำได้ต้องคำนึงถึงความเสียหายของคนต้นน้ำ และประโยชน์ที่ได้รับต้องมากพอที่จะเยียวยาคนเสียหายได้ มิเช่นนั้นจะทำให้ชุมชนล่มสลายเหมือนในอเมริก แต่บ้านเราอาจยังไม่คุ้นเพราะอำนาจในการบริหารจัดการน้ำอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งตลอดเวลาโดยไม่มีการคานอำนาจ

“เรื่องน้ำเราจะดูแต่น้ำอย่างเดียวไม่ได้ อาจต้องดูเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือเรื่องอื่นๆซึ่งส่งผลให้น้ำที่ไหลลงเขื่อนน้อยลง การดูแค่อีไอเอไม่เพียงพอ” มาโนช กล่าว

สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวว่า โครงการรัฐร่วมทุนเอกชนหรือ PPP จะมาก็ต่อเมื่อรัฐตัดสินใจแล้วซึ่งโครงการนี้ถูกตั้งคำถามว่าตอบโจทย์จริงหรือไม่ โดยเวลาที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนนั้น เพื่อลดภาระงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะโดยโครงการแสนล้านบาทนี้ลงทุนสูงมากดังนั้น PPP จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่ง PPP รัฐอาจจะเหมือนยกภูเขาออกจากอก แต่รัฐก็ต้องเป็นหนี้ที่ต้องใช้คืนและคำนึงถึงวินัยทางการคลัง ที่สำคัญคือ PPP มักทำให้โครงการขาดความโปร่งใสตั้งแต่ต้นเพราะเอกชนมักอ้างเป็นความลับทางการค้า ส่งผลให้การประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพทำได้ยาก ข้อเรียกร้องคือกรมชลประทานควรเปิดเผยผลการศึกษาฉบับเต็มต่อสาธารณะและควรใช้ข้อตกลงคุณธรรม

ขณะที่ชาวบ้านที่เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาที่จะเกิดกับชุมชนหากมีโครงการผันแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล โดยยืนยันว่าจะร่วมกันต่อต้านให้ถึงที่สุด นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการที่ทำอีไอเอที่มักทำข้อมูลอยู่ในห้องแอร์และไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงหรือความต้องการของชาวบ้าน

“ฝากถึงนักวิชาการบางกลุ่มที่ผลักดันโครงการว่าอย่าไปหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เราไม่ขอต้อนรับนักวิชาการกลุ่มนี้ เมื่อก่อนน้ำยวมในหน้าแล้งน้ำเยอะ แต่ตอนนี้น้ำน้อยและอีก 10 ปีข้างหน้าน้ำยวมจะยังเหลืออยู่หรือ จะมีเพียงพอผันมาให้คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือไม่”

Related Posts

Send this to a friend