ENVIRONMENT

บอร์ดสิ่งแวดล้อม มีมติ ปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ให้เข้มงวดมากขึ้น

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เข้มงวดมากขึ้น เริ่มใช้ 1 มิถุนายนนี้ ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี คาด เริ่มใช้ได้ในอีก 2-3 เดือนจากนี้ ลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้านองค์กรสิ่งแวดล้อมสากล เรียกร้องให้รัฐยึดตัวเลขต่ำสุดตามที่ WHO แนะนำ สำหรับรายงานคุณภาพอากาศ เพื่อเตือนภัยสุขภาพให้ประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่ หลังใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 เดิมมานานกว่า 10 ปี จึงเห็นควรปรับปรุงให้มีความเข้มงวดและเหมาะสม

จากเดิม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม. จะมีผลบังคับใช้ในทันที นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่า อีกประมาณ 2-3 เดือนจากนี้

นายอรรถพล ยังระบุว่า มาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เทียบเท่าในกลุ่มเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศลำดับต้นๆในกลุ่ม

ก่อนหน้านี้ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ โดยปรับค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2564

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ “เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines: AQGs)” ฉบับใหม่ เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อปลายเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา โดยปรับระดับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น เพิ่มมาตรฐานการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ที่ 5ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากดิมที่ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 จากเดิมกำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม.

สำหรับเกณฑ์แนะนำปี 2564 ดร.อุมา ราชรัฐนาม ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า WHO จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อระบุระดับคุณภาพอากาศที่จำเป็นในการปกป้องสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับระดับคุณภาพอากาศสำหรับฝุ่น PM2.5 , ฝุ่น PM10 , โอโซน (O3) , ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) , ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) รวมทั้งให้เป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target: IT)เพื่อเป็นทางเลือกสําหรับกําหนดเป้าหมายทางนโยบายในการจัดการคุณภาพอากาศกรณีที่ยังไม่สามารถดําเนินงานให้คุณภาพอากาศบรรลุตามคำแนะนําของ WHO ได้

WHO พบว่า มลพิษทางอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เลวร้ายกว่าที่คาดคิด ในแต่ละปีมีประชากรโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยมากถึง 7 ล้านคน ทั้งจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และผลกระทบจากมลพิษอากาศ ขณะที่ปัจจุบัน มลพิษอากาศเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2562 พบว่าประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 10 มคก./ลบ.ม.

จากข้อแนะนำของ WHO คณะทำงานของกรีนพีซฯ มองว่าตัวเลขที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีมติออกมาล่าสุด เป็นเพียงการทำตามข้อเสนอค่ากลางหรือค่าแนะนำของ WHO เท่านั้น แต่ในแง่ของการป้องกันสุขภาพ ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป สะท้อนจากผลการตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2565 กรีนพีซฯ พบว่า มีเพียง 4 วันเท่านั้นที่ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในกทม. ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากตัวเลขดังกล่าว กรีนพีซฯ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านการควบคุมมลพิษและหน่วยงานด้านสุขภาพ ยึดตัวเลขต่ำสุดตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ในการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ เพื่อเตือนภัยสุขภาพให้กับประชาชน

Related Posts

Send this to a friend