วช. ร่วมกับ TEI และองค์กรภาคธุรกิจไทย เปิดเวทีขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

วช. ร่วมกับ TEI และองค์กรภาคธุรกิจไทย เปิดเวทีขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ยุติมลพิษพลาสติกตามสนธิสัญญาพลาสติกโลก
วันนี้ (17 มิ.ย. 68) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025) ครั้งที่ 20 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนซันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Research for all เชื่อมต่ออนาคตไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
วช. ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสมาคมความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน จัดเสวนา “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยกับสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty)” เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และการส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ
รศ.ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ช่วง พ.ศ.2562–2567 มีงานวิจัยด้านปัญหาและแนวทางแก้ไขพลาสติกในสิ่งแวดล้อมกว่า 300 รายการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มากกว่าครึ่งเป็นงานวิจัยด้านสถานการณ์ เทคโนโลยี นโยบาย และเศรษฐกิจหมุนเวียน ผลวิจัยระบุว่าเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน ได้แก่ วัสดุทางเลือก การย่อยสลายทางชีวภาพ การรีไซเคิลขั้นสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล
การจัดการของเสียและน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ ช่วยลดขยะพลาสติกและลดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และไมโครพลาสติกจากพลาสติกทุกชนิด รวมทั้งจากพลาสติกชีวภาพ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้ไทยมีศักยภาพและความริเริ่มทั้งในชุมชนและอุตสาหกรรม แต่ต้องเร่งขยายผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การใช้กลไก Carbon Credit และ Plastic Credit สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เติบโตเร็วขึ้นพร้อมกับการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พลิกวิกฤตพลาสติกเป็นโอกาสพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
ดร.ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงเผชิญกับปัญหามลพิษพลาสติกรั่วไหลสู่ทะเลในระดับสูง ถือเป็นความท้าทายและโอกาสที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข ภาครัฐต้องออกกฎระเบียบที่เข้มข้น สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์จัดการมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดการขยะของกรุงเทพมหานครขับเคลื่อนด้วยหลักการ 3R Reduce Reuse Recycle มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร การหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง รวบรวมวัสดุที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งที่มีมูลค่าสูงและมูลค่าต่ำกลับเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่ให้มากที่สุด ส่วนขยะที่เกิดขึ้นจะรวบรวมส่งเข้าระบบกำจัด ไม่ให้มีขยะตกค้าง และกำจัดด้วยเทคโนโลยีที่สามารถแปรรูปขยะเป็นพลังงาน หรือสารบำรุงดิน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา นายกสมาคมความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน กล่าวว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของไทยบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน บูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนระบบการจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รตอบรับโยบาย EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ตอบสนองต่อทิศทางนโยบายของประเทศตามมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติก (Global Plastic Treaty)