ENVIRONMENT

ปิดฉาก COP 26 ข้อตกลงบนผลประโยชน์การ ต่อรองและการเมือง นำโลกเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ จบลงอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ หลังจากเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจากสมาชิกกว่า 200 ประเทศและเขตปกครอง จะร่วมกันลงนามในข้อตกลง ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ได้ให้สัตยาบันไว้ในข้อตกลงปารีส ยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้พลังงานจากถ่านหิน ในฐานะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามเสนอให้ “ยุติการใช้ถ่านหิน” แต่อินเดีย จีน และกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้พลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก คัดค้านอย่างหนัก จึงมีการเปลี่ยนถ้อยคำ จาก “ยุติ” เป็น “ลด” สร้างความผิดหวังให้กับชาติร่ำรวยในยุโรป และสร้างความโกรธเคืองให้กับประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ที่ถูกคุกคามจากภาวะโลกร้อน 

ส่วนข้อตกลง “ยกเลิกการตัดไม้ทำลายป่า” อินโดนีเซียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศว่าจะยังไม่ยกเลิกการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศตัวเอง แม้จะเป็นผู้ก่อมลภาวะทางอากาศจากปัญหาหมอกควันไฟป่าให้กับหลายประเทศในภูมิภาค 

ด้านชาติร่ำรวย ได้ตัดถ้อยคำที่ระบุเรื่องการสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสนับสนนุนการปรับตัวสู่การใช้พลังงานสะอาดแก่ชาติยากจนตามที่ให้สัญญาไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วออกจากแถลงการณ์สรุปผลการประชุม โดยระบุแค่ว่า จะมีการเจรจาเรื่องนี้ในอนาคต

อาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุม ยอมรับว่าข้อตกลงทั้งหมดนี้น้อยเกินไป และจะยังทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2.4 องศาเซลเซียส จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า ข้อตกลงจากการประชุมจะเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องโลก แต่กลับยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่โลกอยู่ในสถานะฉุกเฉินแล้ว เนื่องจากข้อตกลงที่เกิดขึ้น เต็มไปด้วยการประนีประนอม ผลประโยชน์ เงื่อนไข ความขัดแย้ง และการเมือง 

เกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 18 ปี แสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงต่อการประชุมว่า “การประชุม COP26 คือความล้มเหลว เมื่อสถานการณ์โลกถึงจุดนี้ เราจำเป็นต้องตัดการปล่อยมลพิษแบบทันทีทันใด ต้องทำในแบบที่โลกนี้ไม่เคยทำมาก่อน แต่การประชุม COP26 กลับเป็นเพียงกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ให้บรรดาผู้นำประเทศได้ออกมากล่าววาทกรรมเกินจริง และให้สัญญาที่เป็นไปไม่ได้ โดยแต่ละประเทศยังคงปฏิเสธที่จะเร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง” 

สำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งต่อไป หรือ COP27 จะมีขึ้นปีหน้าที่เมืองชาม-เอล-ชีค ในอียิปต์

Related Posts

Send this to a friend