ENVIRONMENT

กรมโยธาฯ แจงยังไม่พบผลกระทบรุนแรงจากกำแพงกันคลื่น

กรมโยธาฯ แจงยังไม่พบผลกระทบรุนแรงจากกำแพงกันคลื่น โยนกระทรวงทรัพย์ฯ ทบทวนทำ EIA

วันนี้ (6 ธ.ค.65) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงประเด็นการก่อสร้างโครงการกำแพงกันคลื่น หลังภาคประชาชนรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ให้อำนาจกรมโยธาฯ สร้างกำแพงกันคลื่น ว่า จากข้อมูลชายฝั่งประเทศไทยมีประมาณ 3,100 กิโลเมตร มีปัญหาการกัดเซาะประมาณ 870 กิโลเมตร แก้ไขไปแล้ว 733 กิโลเมตร โดยตั้งแต่ปี 2533 กรมโยธาฯ ดำเนินการ 89 กิโลเมตร และมีหน่วยงานดำเนินการแก้ปัญหากัดเซาะร่วมกัน เช่น กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน

ทั้งนี้กรมโยธาฯ มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งตามกฎหมาย อาทิ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีกฏกระทรวงมอบหมายให้กรมโยธาฯ ดูแลด้านนี้ มติคณะรัฐมนตรีปี 2534 และ 2539 พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้โครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งชายฝั่งทะเล เป็นหน้าที่ของกรมโยธาฯ

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น การขาดตะกอนทรายที่อยู่ในชายหาด ทรายในระบบหายไป เนื่องจากมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางการเคลื่อนตัวของทราย ซึ่งกรมโยธาฯ จะพิจารณาตั้งงบประมาณ ศึกษาผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่ง หากการกัดเซาะกระทบต่อพื้นที่รกร้างก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่หากส่งผลกระทบจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเชิญ 7 กลุ่มเป้าหมาย ทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และสื่อมวลชน ตามระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนศึกษาด้านกายภาพ และสิ่งแวดล้อม เสนอทางเลือกให้กับชาวบ้าน ออกแบบกำแพงกันคลื่นโดยผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

โดยตั้งแต่ปี 2565 มีกลไกการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรอิสระ ผู้นำชุมชนร่วมพิจารณาโครงการกำแพงกันคลื่น เพื่อเสนอผลการกลั่นกรองโครงการต่อสำนักงบประมาณ ใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ซึ่งหลังมีคณะกรรมการชุดนี้พบโครงการกำแพงกันคลื่นมีจำนวนน้อยลง เหลือเพียง 6 โครงการ ในปี 2565

นายพงษ์นรา ยอมรับว่า การดำเนินการเรื่องโครงสร้างกำแพงกันคลื่น โดยกรมโยธาฯ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด โดยปัจจุบันยังไม่พบกำแพงกันคลื่นใดที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชน ยังไม่พบการกัดเซาะหน้าหาดจากโครงสร้างของกรมโยธาฯ ที่มีการทิ้งหิน หรือขั้นบันได พบเพียงการกัดเซาะที่ด้านใดด้านหนึ่งของจุดสิ้นสุดกำแพงกันคลื่น ด้านหนึ่งเกิดการทับถม ด้านหนึ่งเกิดการกัดเซาะ ซึ่งขณะนี้กรมโยธาฯ อยู่ระหว่างศึกษาหาเครื่องมือลดผลกระทบดังกล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องของภาคประชาชนให้โครงการกำแพงกันคลื่นต้องจัดทำ EIA เป็นเรื่องของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นนี้ด้วย หากจะนำกระบวนการ EIA กลับมากรมโยธาฯ ยินดีปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามเร็ว ๆ นี้จะมีกฎกระทรวงที่เรียกว่า “เช็กลิสต์ด้านสิ่งแวดล้อม” หรือ “Mini EIA” อยู่ระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากได้ประกาศใช้จะทำให้กระบวนการกลั่นกรองเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

สำหรับประเด็นที่นักวิชาการระบุว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการกำแพงกันคลื่น จะสามารถเติมทรายในระบบที่หายไปได้ถึง 400 ปี คงต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะการเติมทรายเหมาะกับบางพื้นที่ ย้ำว่าการกัดเซาะเป็นพลวัต ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความรุนแรงของคลื่น กรมโยธาฯ จึงจะพิจารณาการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง 5 ปี หรือ 10 ปี

Related Posts

Send this to a friend