ENVIRONMENT

ล้อมวงคุยปัญหาสารพิษแม่น้ำกก แนะรัฐบาลยกระดับเป็นภัยความมั่นคงระดับ 5 ดาว

ชี้ ไม่ต่างจากภาวะสงคราม ชาวบ้านตายผ่อนส่ง เร่งเจรจาว้า-จีน คุมนักธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล ‘สว.อังคณา‘ ห่วงแก้ปัญหาปลายเหตุ ขออย่าปล่อยชาวบ้านเผชิญชะตากรรมช่วยตนเอง

วันนี้ (4 มิ.ย.68) ทีมข่าว The Reporters ลงพื้นที่ปางช้างกะเหรี่ยงรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย หมู่บ้านริมแม่น้ำกกที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2567 และสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก นายสีทน คำแปง ผู้จัดการปางช้างกะเหรี่ยงรวมมิตร กล่าวว่า ช้างจำนวน 9 เชือกได้รับผลกระทบจากสารพิษในแม่น้ำกก เพราะช้างก็ใช้น้ำจากแม่น้ำกกเช่นเดียวกับชาวบ้าน

การลงพื้นที่ในวันนี้ได้มีการล้อมวงเก็บข้อมูล จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผศ.ดร เสถียร ฉันทะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดเผยว่าผลกระทบสำคัญคือ ปัญหาทางสุขภาพ จากสารโลหะหนัก ซึ่งระยะยาวคือสารก่อมะเร็ง ขณะที่การแก้ปัญหาท้องถิ่นมีอำนาจจำกัด ทำได้แค่เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งผล ส่วนการจัดการมลพิษข้ามแดนของรัฐบาลไม่ชัดเจน

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าปัญหามลพิษข้ามพรมแดนไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ต่างจากปัญหาสแกมเมอร์ที่แม้จะมีการตั้งหน่วยงานมาแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 100% เนื่องจากอาชญากรยังอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การปลดล็อกว่าปัญหาแม่น้ำกกเป็นปัญหาภัยความมั่นคงในระดับ 5 ดาว ลักษณะปัญหาข้ามแดนที่มีทุนจีนเข้ามา เดาได้ว่าในอนาคตปัญหาจะมีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่มีการเจรจาเพื่อยุติปัญหา

รัฐต้องแสดงความจริงใจให้กับสังคมโดยต้องไม่ปฏิเสธว่าปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก เป็นภัยความมั่นคงระดับสูง กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างร้ายแรงไม่ต่างจากภาวะสงคราม ประเด็นที่ว่า ว้าไม่ใช่ประเทศ การให้รัฐบาลส่งคณะทูตพิเศษไปคุยกับว้าอย่างเป็นทางการจะไม่เกิดขึ้น แต่ควรส่งคณะทำงานเข้าไปพูดคุย โดยส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลเนปิดอว์ว่า รัฐบาลไทยต้องกล้าพอที่จะบอกว่าชาวบ้านเราเดือดร้อน ตายผ่อนส่ง

ปัญหาหลักคือ คณะทำงานแม่น้ำกกยังไม่มีเจ้าภาพ เราต้องอย่ารอให้ปัญหามีมากกว่านี้ วันนี้เราต้องการคนไปเจรจากับว้า หรือการเอาว้ามาเจรจาที่เชียงราย การต่อรองกับเมียนมา พูดไปก็ไร้บอย แม้จะเป็นเจ้าของประเทศ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ของว้าได้ และพบเหมืองกว่า 40 แห่ง

ความจริงคือ ว้าอนุญาตให้บริษัทจีนเข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ แต่ปัญหาคือไม่มีการควบคุมด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม การประชุมผ่านกรอบความมั่นคงกับเมียนมาคือ การคุยกับรัฐบาลเมียนมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเวทีใดที่ให้ไทยได้พูดคุยกับชนกลุ่มน้อยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นเราจึงต้องสร้างกลไกในการพูดคุยกับว้าให้เกิดขึ้นได้จริง และจีนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ควบคุมนักธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญเรื่องการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งสำคัญคือเมื่อรู้ว่าเกิดปัญหาแล้วจะแก้ไขอย่างไร ไทยได้แชมป์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เนื่องจากนำหลักการของสหประชาชาติมาใช้ และมีแผนปฏิบัติการชาติ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนข้ามพรมแดน

ไทยต้องไม่ลืมว่ามีกลไกอาเซียน เหตุใดจึงไม่ใช้ช่องทางนี้ในการเจรจา กรณีที่บอกว่าบริษัทที่เข้ามาประกอบการเป็นทุนจีน ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลจีน เหตุใดจึงไม่ยกระดับในการหารืออย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญชะตากรรม และต้องช่วยตนเอง

อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกับที่พยายามบอกกับชาวโลกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลกลับช้ามาก แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งการสร้างฝาย สร้างเขื่อน สุดท้ายจะกลับไปจุดเดิม หากรัฐบาลไม่หยุดปล่อยสารพิษลงแม่น้ำ ปัญหาก็ไม่หมดไป

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat