ENVIRONMENT

เผย ไทยมีขยะพลาสติกหลุดรอดสู่ทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผย ไทยมีขยะพลาสติกหลุดรอดสู่ทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาจัดการขยะอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่ยั่งยืน

วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี คือวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) วันที่ทั่วโลกร่วมตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปี 2025 องค์การสหประชาชาติกำหนดหัวข้อ “Beat the Plastic Waste” หรือ “การต่อสู้กับขยะพลาสติก” เน้นย้ำถึงวิกฤติของปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า สุขภาพมนุษย์ และระบบนิเวศทั่วโลก

วิศรา หุ่นธานี ผู้อำนวยการฝ่ายมลพิษ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

วิศรา หุ่นธานี ผู้อำนวยการฝ่ายมลพิษ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า มนุษย์สร้างพลาสติกขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย ด้วยคุณสมบัติความทนทาน ทำให้กลายเป็นขยะที่ก่อให้เกิดผลกระทบยาวนานต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีขยะพลาสติกราว 400 ล้านตันถูกผลิตขึ้นในแต่ละปี มีเพียงร้อยละ 9 ที่ถูกรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนที่เหลือมักถูกเผาทำลาย ฝังกลบ รวมถึงหลุดรอดลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่อาจกินเศษพลาสติกเข้าไป

นอกจากนี้ ไมโครพลาสติก หรือพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋ว มาจากการแตกตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ เริ่มปรากฏในระบบน้ำ อาหาร และแม้แต่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น

พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) เช่น ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติก แก้วน้ำพลาสติกแบบบาง รวมถึงกล่องโฟม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูก แต่กลับกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง เนื่องจากย่อยสลายยาก มักหลุดรอดสู่ธรรมชาติ โดยเฉพาะในทะเลและแหล่งน้ำ

วิศรา กล่าวว่า วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ไม่ใช่แค่การชี้ให้เห็นปัญหา แต่เป็นการเรียกร้องให้ทุกคนลงมือทำ เริ่มได้จากพฤติกรรมง่าย ๆ เช่น ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว, พกถุงผ้า แก้วน้ำ หรือกล่องอาหารส่วนตัว, สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้, แยกขยะที่ต้นทางและสนับสนุนระบบรีไซเคิล และ สนับสนุนให้มีนโยบายควบคุมพลาสติกที่จริงจัง

ประเทศไทยแสดงความมุ่งมั่นในการลดปัญหาขยะพลาสติก ผ่านการดำเนินงานตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้พลาสติกถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการที่สนับสนุนการลดพลาสติก เช่น ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก การส่งเสริมธุรกิจที่มีระบบรีไซเคิลครบวงจร และการลงทุนในวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2567 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 2.24 ล้านตันต่อปี แต่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 25.4 ขณะที่ขยะพลาสติกที่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลของไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก

การส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น PBS (Polybutylene Succinate) ที่สามารถย่อยสลายได้ในสภาวะที่เหมาะสม และการพัฒนามาตรฐานวัสดุทางเลือกให้มีคุณภาพเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป ยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เลือกผลิตให้เหมาะตามหน้าที่การใช้งาน รวมถึงการสื่อสารให้กับผู้บริโภคจัดการกับขยะหลังการใช้งานให้ถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กัน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการจัดการขยะ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat