JGSEE สร้างฐานข้อมูลแหล่งกำเนิด PM2.5 หนุนใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร-รถ EV ลดปริมาณฝุ่น

รศ.ดร.สาวิตรี การีเวทย์ และคณะจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินโครงการ “การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ จากการใช้ระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง” เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดและกลไกของการเกิด PM2.5 ทุติยภูมิ รวมถึงจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ลดลง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
รศ.ดร.สาวิตรี กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง การใช้ข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดย PM2.5 มีทั้งที่เกิดจากการปล่อยโดยตรง เช่น การเผา ควันจากรถ ซึ่งเป็น ‘แบบปฐมภูมิ’ และที่เป็นการรวมตัวกันของสารตั้งต้น เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แอมโมเนีย และ NMVOC กับสารอื่น ๆ ผ่านปฏิกิริยาเคมีในอากาศ ซึ่งเป็น ‘แบบทุติยภูมิ’
“เราจึงจำเป็นต้องมีทั้งบัญชีการระบายทั้งของฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิและของสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิ เพื่อนำเข้าระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนใช้ประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ของประเทศ ทั้งในระยะกลางและระยะยาวต่อไป” รศ.ดร.สาวิตรี กล่าว
จากการวิจัยพบว่า สัดส่วนระหว่าง PM2.5 ปฐมภูมิ และ PM2.5 ทุติยภูมิอยู่ที่ 70:30 โดยประเทศไทยแหล่งกำเนิด PM2.5 มาจากการเผาชีวมวลในที่โล่งในพื้นที่การเกษตรเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการเผาฟืน ถ่านไม้เพื่อหุงต้มในภาคครัวเรือน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาดเล็ก การผลิตซีเมนต์ และการจราจร ตามลำดับ
ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แหล่งกำเนิด PM2.5 ปฐมภูมิมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากรถบรรทุก รถเมล์ รถยนต์ส่วนบุคคล การเผาไหม้ในอุตสาหกรรมจากจังหวัดโดยรอบ เช่น จ.นครปฐม และสมุทรสาคร ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิที่เกิดจากพื้นที่ภาคกลางมีต้นกำเนิดจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร และการผลิตซีเมนต์
ทั้งนี้ ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุด เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่มวลอากาศมีการเคลื่อนตัวโดยความเร็วต่ำ รวมถึงเป็นช่วงที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เข้าสู่ช่วงเตรียมพื้นที่เพื่อการทำเกษตรรอบใหม่ จึงมีการเผาในที่โล่งในจำนวนมากขึ้น รวมถึงการเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่
รศ.ดร.สาวิตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประเทศไทยสามารถดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้ คือ ใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิได้กว่า 10% ภายในปี 2573 และเมื่อรวมปัจจัยการใช้รถ EV ที่มีปริมาณมาก จะช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนการเผาในที่โล่ง ต้องมีมาตรการควบคุมการเผาเศษวัสดุชีวมวล โดยเฉพาะใน จ.กาญจนบุรี ลพบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งมีอัตราการเผาในที่โล่งในพื้นที่นาข้าวและไร่อ้อยในปริมาณสูง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ได้จากการวิจัย จะส่งต่อให้กรมควบคุมมลพิษและจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบนโยบาย และมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ในพื้นที่อย่างถูกต้องและแม่นยำ แก้ไขปัญหาได้ถึงจุดกำเนิดของฝุ่น PM2.5