เครือข่ายภาคประชาชนจวกนายกฯ เชื่องช้าแก้ปัญหาสารพิษปนเปื้อนน้ำกก-สาย-รวก-โขง
เครือข่ายภาคประชาชนจวกนายกฯ เชื่องช้าแก้ปัญหาสารพิษปนเปื้อนน้ำกก-สาย-รวก-โขง มัวแต่ตั้งรับ เลขามูลนิธิ พชภ.ชี้เป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่สุด
วันนี้ (2 มิ.ย. 68) ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และแกนนำเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำกก สาย รวก โขง จ.เชียงราย ได้โพสต์เฟสบุคถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ตามที่นายกฯแจ้งว่าสถานการณ์แม่น้ำกกดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ตนมีความเห็น 4 ข้อ ดังนี้1.ขอหลักฐานจากนายกฯที่แสดงให้เห็นว่าน้ำกกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอะไรคือข้อมูลหลักฐานที่ทำให้นายกรัฐมนตรีถึงกล้าประกาศเช่นนี้ ทั้งที่กรมควบคุมมลพิษเพิ่งเผยแพร่ผลการตรวจคุณภาพน้ำกก สาย และโขง พบว่ายังมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน
ดร.สืบสกุลกล่าวว่า 2. นายกรัฐมนตรียังคงมีความเชื่องช้าในการแก้ไขปัญหาวิกฤต เพราะนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯมาประชุมที่ จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เวลาผ่านไป 6 วัน แล้ว แต่รัฐบาลบอกว่าอยู่ในระหว่างจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะด้าน เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำกกและแม่น้ำสาย โดยมีกำหนดเสนอรายชื่อเพื่อพิจารณาในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ควบคู่กับการวางแผนจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ (ส่วนหน้า)” และกลุ่มประสานงานเฉพาะกิจ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานในระดับพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม
“เวลาผ่านไปแล้ว 6 วัน มันอาจไม่นานหากเป็นปัญหาอื่นๆ แต่ชาวเชียงรายเฝ้ามองสายน้ำปนเปื้อนสารพิษทุกเมื่อเชื่อวัน นอกจากนี้วันที่ 4 มิถุนายนที่จะถึงคือการพิจารณารายชื่ออีกต่างหาก ทำไมต้องเป็นวันที่ 4 ผมเดาว่าเป็นวันทำการหลังจากหยุดยาวใช่ไหมครับ พวกเราต้องการความมุ่งมั่นจากนายกรัฐมนตรีมากกว่านี้” ดร.สืบสกุล กล่าว
นักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่า 3. นายกรัฐมนตรียังคงทำงานตั้งรับต่อแหล่งกำเนิดมลพิษข้ามพรมแดน โดยสั่งการแค่ให้กระทรวงต่างประเทศประสานงานแค่กับประเทศเมียนมาเท่านั้น นายกรัฐมนตรีต้องเอาประเทศตจีนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะประชาชนเห็นว่าจีนมีบทบาทอย่างสำคัญทั้งในแง่การทำเหมืองและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลเมียนมา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในพื้นที่ นอกจากนี้จุดยืนรัฐบาลต้องแถลงให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนว่า ตกลงแล้วนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการแก้ต้นเหตุมลพิษทำได้ด้วยการปรับปรุงเหมืองหรือปิดเหมือง
นายสืบสกุลกล่าวว่า 4. ปัญหาไม่ได้มีแค่แม่น้ำกก แต่แม่น้ำทั้งหมดมี 4 สายที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก ได้แก่ แม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง ตนติดตามการทำงนของนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอดซึ่งมักย้ำแต่แม่น้ำกกเท่านั้น ทั้งที่แม่น้ำทั้ง 4 สายล้วนแต่วิกฤต นายกรัฐมนตรีต้องพูดถึงแม่น้ำให้ครบทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง
ขณะที่ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) จ.เชียงราย กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่แม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง ในเวลานี้ คงต้องเรียกว่า “หายนะทางสิ่งแวดล้อมหนักที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา” เพราะเกิดการปนเปื้อนโลหะหนัก ตลอดลำน้ำตั้งแต่เข้าสู่ประเทศไทยจนลงสู่แม่น้ำโขง เพราะมีการทำเหมืองเถื่อน ( illegal mining) และนี่เป็นเพียงปฐมบทเท่านั้น
เลขาธิการมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า มีการเปิดหน้าดินที่ต้นน้ำอย่างรุนแรง มีภาพเรือขุดกลางลำน้ำ มีภาพถ่ายดาวเทียมเห็นภูเขาถูกขุดไม่ต่ำกว่า 40 จุด และที่น่าตกใจที่สุดคือภาพเหมืองแร่แรร์เอิร์ท ที่เพิ่งเริ่มในพื้นที่ภูเขาต้นน้ำกก จนมีการตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าตลอดลำน้ำกก สาย รวก โขง มีค่าสารโลหะหนักเกินมาตรฐาน โดยล่าสุดสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ รายงานว่าการตรวจแม่น้ำกกจำนวน 15 จุด โดยอยู่ในพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ 3 จุด และจังหวัดเชียงราย 12 จุด พบว่า “สารหนู” (As) เกินมาตรฐาน 11 จุด
น.ส.เพียรพร กล่าวว่า แม่น้ำสายสารหนูเกินมาตรฐาน ทั้ง 3 จุด รวมถึงแม่น้ำโขง สารหนูเกินมาตรฐาน ทั้ง 2 จุด คือที่ อ.เชียงแสน พรมแดนไทยลาว ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูล ผลคุณภาพน้ำบริเวณที่ติดกับพรมแดนของเมียนมา ทั้งแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย จะมีค่าความขุ่นสูงตลอดเส้นน้ำและโลหะหนักสารหนูมีค่าสูงซึ่งเป็นพารามิเตอร์ที่สะท้อนถึงการทำกิจกรรมการทำเหมืองอย่างชัดเจน โดยค่าสารหนูที่พบในแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าอาจจะได้รับผลกระทบมาจากแม่น้ำสายที่มาบรรจบกับแม่น้ำรวก และไหลลงสู่แม่น้ำโขง
“หายนะครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องยอมรับปัญหา ว่ามาจากเหมืองเถื่อนที่ต้นน้ำ นี่คือปีแรกๆ ของหายนะเท่านั้น กองกำลังว้าและกองกำลังที่มีอิทธิพลต่างๆในรัฐฉานอนุญาตให้บริษัทจีน (และอาจมีประเทศอื่นๆ) เข้ามาถลุง ต้นแม่น้ำของเราโดยไม่มีกฎหมายใดๆ นี่คือ organized environmental crime หากรัฐบาลไม่ตั้งธงว่าจะแก้ปัญหานี้ที่ต้นทางของมลพิษ เราจะหมดงบประมาณอีกเท่าไหร่ในการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ที่เป็นเพียงยาแก้ปวดเท่านั้น” เลขาธิการมูลนิธิ พชภ. กล่าว