ENVIRONMENT

แม่น้ำโขงวิกฤต แล้งหนัก ชาวบ้านจี้แก้ไข หลังเขื่อนจีนกักน้ำ เขื่อนไซยะบุรีทดลองผลิตไฟฟ้า กฟฝ.แจงไม่เกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ได้รายงานสถานการณ์ของแม่น้ำโขงว่ายังคงผันผวนมาก ทั้งบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลผ่านในภาคเหนือและภาคอีสาน นอกจากนี้ยังเกิดภาวะความแห้งแล้งอย่างหนัก ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลายเป็นปัญหาของภูมิภาคโดยรวมคือการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงในยูนนานระหว่างวันที่ 5-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีในลาวซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ช. การช่าง ของไทยได้ทดลองการเปิดใช้งาน โดยเมื่อ17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีประกาศจากทางการลาว เรื่องการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหัวที่ 5 ของเขื่อนไซยะบุรี เป็นเวลา 72 ชั่วโมง เริ่มในเวลาเที่ยงวันของเมื่อวานนี้

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง โดยทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ส่งจดหมายสอบถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐไทยที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำเขื่อนไซยะบุรี

ซึ่งกฟผ. ได้ตอบจดหมายซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า ข้อมูลการกักเก็บน้ำและการปล่อยน้ำของโครงการฯ ไม่มีระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมิได้เป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของ กฟผ. ดังนั้น กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว ส่วนข้อมูลการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนนั้น เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา ซึ่งเมื่อได้รับความยินยอมแล้ว กฟผ.จะดำเนินการเปิดเผยให้ทราบ ต่อมากฟผ.ได้มีหนังสือไปยังโครงการเพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และโครงการมีหนังสือแสดงความยินยอม กฟผ.จึงนำส่งข้อมูลและรูปประกอบ

ในข้อมูลประกอบดังกล่าว เป็นจดหมายจากบริษัททีมคอลซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง ถึงผู้จัดการบริษัทไซยะบรีพาวเวอร์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2554 โดยเป็นจดหมายภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า สำหรับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัทมีความมั่นใจว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จะอยู่ในบริเวณรอบๆเขื่อนเท่านั้น และเป็นเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงจะไม่เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน

ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง มีความเห็นว่า กฟผ. มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เป็นไปเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มวันซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางตามสัญญา 29 ปี ในเดือนตุลาคม 2562 ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าในระยะทดลองนี้ ดำเนินไปโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง

ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงมาจนถึง จ.เลย และจังหวัดภาคอีสาน ตามประกาศทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ว่าเขื่อนจิงหงลดปริมาณการระบายน้ำลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการซ่อมแซมระบบสายส่งระหว่างวันที่ 5-17 กรกฎาคม 2562 และต่อมามีประกาศอย่างเป็นทางการของสปป.ลาว มีหนังสือแจ้งเตือนว่า ในวันที่ 17 กรกฎาคม เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ทางโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำไซยะบุรี จะทดสอบเครื่องจักรปั่นไฟฟ้าหน่วยที่ 5 ใช้เวลาต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง (3 วัน) ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้จะต้องปล่อยน้ำจากทางเหนือเขื่อนมากกว่าปกติ ตามระดับการไหลของแม่น้ำโขง โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนของโครงการลดระดับจาก 273.3 เมตร เป็น 271 เมตร น้ำจะลดลงประมาณ 0.75 เมตร ต่อวัน และระดับน้ำท้ายเขื่อน จะเพิ่มขึ้นระดับสูงสุดประมาณ 237.5 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้ระดับน้ำไม่ปกติเหนือเขื่อน ท้ายเขื่อน และเมื่อสิ้นสุดการทดสอบ ทางโครงการจะปล่อยน้ำให้ไหลเป็นปกติ

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน’ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง’) ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายในปี 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend