ENVIRONMENT

เปิดใจนักอนุรักษ์ อดข้าวประท้วง ขอให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รื้อถอนจุดบริการนักท่องเที่ยวเหวนรก ป้องกันช้างป่าตกเหวตาย

The Reporters ได้โทรศัพท์สอบถามความคืบหน้ากรณี นายเข็มทอง โมราษฎร์ ประธานกลุ่มเด็กรักป่าสุรินทร์ อดข้าวประท้วง อยู่ที่บริเวณหน้าป้ายประตูทางขึ้น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม เรียกร้องให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รื้อถอนจุดบริการนักท่องเที่ยวเหวนรก หลังเกิดโศกนาฏกรรม ช้างป่าตาย 11 ตัว

นายเข็มทอง เปิดเผยว่า ได้อดอาหารและดื่มแต่น้ำ มา วันที่ 5 แล้ว วันพรุ่งนี้ ที่เข้าสู่วันที่ 6 จะเริ่มอดน้ำด้วย ความตั้งใจจะอดอาหารประท้วง 11 วัน จนกว่าจะมีคำตอบมาจาก รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ

“ความตั้งใจของผม อยากยื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพย์ ผ่านโซเซียล เพื่อที่จะให้มีการ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จุดบริการนักท่องเที่ยวเหวนรก จุดที่มีร้านขายของที่ระลึก โซนติดถนน ให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน เพื่อคืนสภาพพื้นที่ให้ป่า เป็นพื้นที่กันชน หรือ Buffer Zone ให้กับช้างได้มีทางเดินที่ปลอดภัย และให้มีแผนแม่บทในการแก้ปัญหาช่างป่าอย่างครบวงจร”

นายเข็มทอง ยืนยันกับ The Reporters

“ขอแลกชีวิตเพื่อรักษาช้าง รักษาป่า เพราะช้างเป็นระบบนิเวศ ที่เป็นดัชนีชี้วัดของป่า เป็นตัวบุกเบิกเส้นทาง บุกเบิกหาแหล่งธาตุ เกลือแร่ให้กับสัตว์กินพืช ทั้งหลาย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แม้มีช้างมาก แต่มีพื้นที่ที่สร้างปัญหาอีกมากด้วย เช่น ปัญหาคนกับช้าง โดยรอบอุทยานฯ ก็ยังแก้ไม่ได้ จึงหวังว่า ช้างตายทั้งตัว น่าจะบอกอะไรถึงบ้านเมืองได้บ้าง จึงคิดว่าเราน่าจะใช้คุณประโยชน์ของช้างที่ตาย มาคิดวางแผนในระยะยาวด้วย”

นายเข็มทองย้ำถึงความตั้งใจ ที่มองว่า ช้างตายไม่ใช่เรื่องธรรมดา เราต้องให้ความสำคัญอย่างสูง

นายเข็มทองเป็นคนแรกที่ลุกขึ้นประท้วงป้องกัน ช้างตกเหวนรกตาย เมื่อปี 2535 ผ่านมา 27 ปีเกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ช้างตกเหวตาย 11 ตัว ทำให้เขาต้องมาอดข้าวประท้วงอีกครั้ง เพราะข้อเสนอ 6 ข้อที่เคยเรียกร้องเมื่อ 27 ปีก่อน ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การตั้งทีมวิจัยศึกษาการเดินของช้าง การสนับสนุนภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการช้าง ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้ช้างตกเหวนรก ให้มีทีมเจ้าหน้าที่มีจุดสกัดปากเหวนรก ช่วงฤดูน ปลายฝน เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าเวรยาม จุดประทัด ซึ่งเรื่องนี้พบว่าทำมา 22 ปี แต่ช่วง 5 ปีมานี้ พบว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรงนี้ แต่กลับเอาเจ้าหน้าที่ไปดูแลนักท่องเที่ยวแทน ส่วนตัวจึงเชื่อว่า ใน 27 ปีที่ไม่ช้างตกเหวเพราะมีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าที่ปากเหว

“ที่เข้มแข็งที่สุด คือ งานที่เจ้าหน้าที่ในจุดสกัดปากเหวนรกในช่วง 22 ปีมา ไม่มีช้างตกเหวเลย แต่พลาดปีที่ 27 เพราะไม่มีกำลัง ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก” นายเข็มทองกล่าว

หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ตอบมาว่า จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เหวนรก ผมก็จะเลิกอดอาหาร แต่หากยังไมีคำตอบก็จะอดไปเรื่อยๆ ซึ่งพรุ่งนี้เข้าวันที่ 6 ที่จะต้องเริ่มอดน้ำ ที่ตามธรรมชาติ คนเราจะอดน้ำแล้วมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3-4 วัน

นายเข็มทอง หวังว่า การอดอาหารประท้วงของเขาครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อช้าง ซึ่งยังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยน เช่น การผลักดันช้างที่ข่ามถนนเขาใหญ่ให้รถนักท่องเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่ควรเปลี่ยนวิธีให้รถรอ จนกว่าช้างจะเดินผ่าน เพราะเป็นเส้นทางธรรมชาติของช้าง

ปี 2535 ถนนทำให้ช้างตกเหวนรก ปัจจุบันช่างปรับตัวได้ เดินเป็นโขลงได้หมดเลย เราไม่เห็นด้วยกับชุดที่ผลักดันช้างให้นักท่องเที่ยว เพราะถนนเส้นตัดผ่านเขาใหญ่ไม่ใช่ทางด่วน ทุกคนต้องเคารพเจ้าของพื้นที่ คือ ช้าง ป่า คือ บ้านของช้าง รอช้างเดิน เขากำลังทำมาหากิน รอเขา ไม่ใช่พอมีช้างแล้วรีบผลักดันออกจากถนน เจ้าหน้าที่ไม่ใช่พนักงานทางด่วน ทางนี้ไม่ใช่ทางด่วน แต่เป็นเส้นทางรักษาธรรมชาติ นักท่องเที่ยวต้องเข้าใจ

นายโอภาส ศรีสมบูรณ์ ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นำแพทย์มาช่วยตรวจสุขภาพ ให้นายเข็มทอง โดยเปิดเผยว่า การต่อสู้ของนายเข็มทอง เป็นแนวทางอยากให้ช้างปลอดภัยตรงกับทางอุทยาน แต่ในข้อเรียกร้องอื่น มีระเบียบราชการต้องดำเนินการและเป็นขั้นตอนที่กรมอุทยานและกระทรวงต้องดำเนินการ ขณะนี้จึงนำทีมแพทย์มาช่วยดูแลสุขภาพหลังอดอาหารมา 5 วันแล้ว และจะมาทุก 2 วันหลังอดอาหารรวมทั้งมีตำรวจ สภ.หมูสี มาช่วยดูแลความปลอดภัยด้วย

Related Posts

Send this to a friend