ENVIRONMENT

ป้อง ณวัฒน์ และ 9 องค์กรอนุรักษ์ยื่นจดหมายขอความร่วมมือรัฐบาล เลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐ

‘ป้อง’ ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงชื่อดังและทูตด้านฉลามขององค์กรไวล์ดเอด และพันธมิตรองค์กรอนุรักษ์ 9 องค์กรอันประกอบไปด้วย องค์กรไวล์ดเอด, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, กรีนพีซ ประเทศไทย, กลุ่มเนเจอร์เพลิน,  องค์กรชาร์ค การ์เดี้ยน, มูลนิธิรักสัตว์ป่า, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย แมนตา ทรัสต์ (ประเทศไทย) และมูลนิธิฟรีแลนด์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่าน ตัวแทนของรัฐบาล คุณธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จุดบริการประชาชน ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความร่วมมือรัฐบาลร่วมกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปกป้องฉลามด้วยการ ‘ฉลองไม่ฉลาม’ เลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐทุกรูปแบบในอนาคต หลังจากที่งานเลี้ยงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมามีซุปหูฉลามเป็น 1 ในรายการอาหาร จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียล มีเดีย

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า องค์กรอนุรักษ์ทั้ง 9 องค์กรมีความเห็นพ้องต้องกันว่า การเสิร์ฟหูฉลาม เป็นตัวอย่างของการสนับสนุนการบริโภคเมนูจากสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งการบริโภคเป็น 1 ในภัยคุกคามหลักประการสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามโลกมีจำนวนลดลง บางสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศในทะเล และได้ชี้แจงถึงความสำคัญของการเลิกบริโภคหูฉลาม โดยในแต่ละปี ฉลามราว 100ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบจากฉลาม 73ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม การล่าฉลามเพื่อตัดครีบเป็นการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนและโหดร้าย ขณะนี้ 1 ใน 4 ของสายพันธุ์ฉลามกำลังถูกคุกคามและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์  และในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประชากรฉลามบางสายพันธุ์ลดลงมากราว 90-98% โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการบริโภค และการทำประมงเกินขนาด

การควบคุมและติดตามการค้าครีบฉลามที่วางจำหน่ายแล้วทำได้ยาก เพราะไม่สามารถระบุชนิดของฉลามจากผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย และต้องใช้การตรวจดีเอ็นเอเพื่อระบุสายพันธุ์ ดังนั้น ผู้บริโภคจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ครีบฉลามที่บริโภคมาจากสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือไม่

นอกจากนี้ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลาม องค์กรไวล์ดเอด ปี 2560 พบว่า ไทยเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญ โดยคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศ ร้อยละ 57 เคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 61 ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยคนไทยบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ อย่าง งานแต่งงาน (72%)  งานรวมญาติ (61%)  และงานเลี้ยงธุรกิจ (47%)

ด้วยเหตุผลดังกล่าว พันธมิตรองค์กรอนุรักษ์ 9 องค์กร จึงขอความร่วมมือรัฐบาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปกป้องฉลามด้วยการ ‘ฉลองไม่ฉลาม’ ประกาศเลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐทุกรูปแบบในอนาคต ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีทั้งต่อคนไทย และสร้างภาพลักษณ์แง่บวกในระดับนานาชาติ

“วันนี้ผมมาเป็นตัวแทนของคนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะเห็นรัฐบาลเป็นผู้นำในการดูแลระบบนิเวศทางทะเล การเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงเท่ากับเป็นการสนับสนุนการฆ่าฉลาม ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ที่เปรียบเหมือนเสือในป่า การหยุดสนับสนุนการบริโภคหูฉลามจึงเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนทำได้ง่ายที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป มาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยการ ‘ฉลองไม่ฉลาม’ นำหูฉลามออกจากเมนูงานเลี้ยงทุกรูปแบบ เพราะหยุดกินหูฉลาม เท่ากับหยุดฆ่า” 

เมื่อปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการปกป้องสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การบริโภคหูฉลามในจีนลดลงมากถึง 80% และในปีเดียวกันฮ่องกงประกาศเลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า การไม่เสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงเป็นทิศทางที่ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญดำเนินมาได้หลายปีแล้ว

“เราเห็นได้ชัดว่า สังคมมีความตระหนักถึงความสำคัญของการเลิกทานหูฉลามมากขึ้น จากการที่คนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงผู้มีชื่อเสียงหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับข่าวที่เกิดขึ้น เนื่องจากการทานหูฉลามเป็นการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ฉลามทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากรลดลง ในฐานะที่ไทยมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศ องค์กรไวล์ดเอด และพันธมิตรองค์กรอนุรักษ์ทั้งหมด 9 องค์กรหวังว่า ไทยจะแสดงความเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ฉลามและทรัพยากรทางทะเล ด้วยการประกาศเลิกเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐทุกรูปแบบในอนาคต และเป็นแบบอย่างให้ทุกคนเห็นว่า งานฉลองไม่จำเป็นต้องมีฉลามเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารอีกต่อไป” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

Related Posts

Send this to a friend