ENVIRONMENT

น้ำโขงในวันสิ้นตะกอน-ศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ ไร้แหล่งเพาะพันธุ์สรรพสัตว์-พื้นที่ชุ่มน้ำถึงกาลล่มสลาย

วันนี้ (3 ธ.ค.  62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนริมแม่น้ำโขงในภาคอีสานยังคงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่น้ำแม่น้ำโขงใสและกลายเป็นสีเขียวคราม ซึ่งนักวิชาการหลายสำนักต่างเตือนว่าเป็นปรากฎการณ์ “หิวตะกอน” เนื่องจากตะกอนทั้งหมดถูกเขื่อนไซยะบุรีกักไว้หมดและจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งครั้งใหญ่ นอกจากนี้ล่าสุดชาวบ้านยังพบซากสัตว์น้ำทั้งปลา หอยและปูตายตามแนวตลิ่งอยู่ประปราย

ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ อ้างอิงถึงบทความของนายแพททริก แมคคูลลี่ อดีตผู้อำนวยการ International Rivers ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า แม่น้ำทุกสายต่างนำพาตะกอนดินและหินจากที่ๆ แม่น้ำไหลผ่าน แต่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ กักเก็บตะกอนเหล่านี้ไว้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะตะกอนขนาดใหญ่และกรวด ทำให้แม่น้ำทางตอนล่างของเขื่อนมีอาการ “หิว” ตะกอนเหล่านี้ โดยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่มีช่องระบายตะกอนต่ำจะกักเก็บตะกอนไว้กว่า 90 % หรือบางกรณีอาจถึง 100% ของปริมาณตะกอนที่ไหลเข้ามา แม่น้ำท้ายเขื่อนที่มีลักษณะใส เรียกว่า แม่น้ำที่ “หิว” ซึ่งจะพยายามดึงตะกอนเพื่อเข้ามาเติมเต็ม โดยเป็นตะกอนจากตลิ่งสองฝั่งน้ำ และจากท้องน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะท้องน้ำและตลิ่ง และอาจจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นทางท้ายน้ำลงไปเรื่อยๆ

ในบทความดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลาผ่านไป การกัดกร่อนก็จะนำพาดินและตะกอนออกไปจากท้องน้ำทั้งหมด ทำให้ท้องน้ำมีลักษณะ “หุ้มเกราะ” (armoured riverbed) เป็นลำน้ำที่เต็มไปด้วยหิน เมื่อท้องน้ำเปลี่ยนไป ปราศจากก้อนกรวดเล็กๆ ซึ่งเป็นที่วางไข่และหากินของปลาสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่บริเวณท้องน้ำ รวมทั้งหอย และสัตว์น้ำเปลือกแข็งชนิดต่างๆ ซึ่งสัตว์หน้าดินเหล่านี้เป็นอาหารสำคัญของปลาและบรรดานกน้ำ ขณะที่ทางน้ำและร่องน้ำที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ลดพื้นที่ซึ่งกรวดจะถูกย่อยสลายเป็นตะกอนให้แก่แม่น้ำอีกด้วย

“เมื่อเขื่อนปิดลำน้ำ ระยะเวลาราวๆ 1 ทศวรรษจะพบว่าทำให้ท้องน้ำถูกกัดเซาะลึกหลายเมตร ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำบาดาลในพื้นที่ตลอดลำน้ำลึกลงอีกหลายเมตรเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงระดับน้ำในบ่อบาดาล พื้นที่ชุ่มน้ำก็จะกลายเป็นแห้งแล้งไปและพืชพรรณต่างๆ จะขาดน้ำ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งปลูกสร้างสองฟากแม่น้ำ รวมทั้งถนน และตลิ่งคอนกรีตต่างๆ ในระยะยาว ทางน้ำบริเวณท้ายน้ำจากเขื่อนจะเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำที่ลึกยิ่งขึ้น และแคบลง แม่น้ำที่คดเคี้ยว มีเกาะและดอนทราย หาด ต่างๆ หลายช่องทางน้ำ ก็จะกลายเป็นแม่น้ำเพียงช่องเดียวตรงๆ” บทความดังกล่าวระบุ

นายแพททริก แมคคูลลี่ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ Silenced Rivers ยังระบุไว้ในบทความด้วยว่า ประสบการณ์ที่สำคัญคือกรณีเขื่อนฮูเวอร์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดการชะล้างตะกอนจากท้องน้ำไปกว่า 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 145 กิโลเมตรของแม่น้ำท้ายน้ำจากเขื่อน และทำให้ท้องน้ำลึกลง ส่งผลให้ระดับน้ำบาดาลต่ำลง และแม่น้ำโคลโรลาโด บริเวณท้ายน้ำของเขื่อนฮูเวอร์ เกิดตลิ่งพังเป็นระยะทางถึง 15 เมตรในเวลาเพียง 1 ปี นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ดังเช่นกรณีของเขื่อนอัสวาน High Aswan Dam บนแม่น้ำไนล์ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วพัดพาตะกอนมาสู่ท้องทะเลมากถึง 124 ล้านตันต่อปี และนำพาตะกอนสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำถึง 9.4 ล้านตันต่อปี เป็นบริเวณที่ทำการเกษตรที่สำคัญที่สุดของชาวอียิปต์ แต่เมื่อก่อสร้างเขื่อน ทำให้ตะกอนกว่า 98% ตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ตะกอนเหล่านี้มีแร่ธาตุสำคัญ อาทิ ซิลิกา อลูเมิเนียม เหล็ก และอื่นๆ ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญของเกษตรกรรมปากแม่น้ำ เมื่อขาดแร่ธาตุเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำไนล์ในทุกวันนี้ไม่มีตะกอนแร่ธาตุสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน และพื้นที่ปากแม่น้ำก็หดหายไปจนหมด  

ขอบคุณภาพ: ณัฐนันท์ เที่ยงธรรม

Related Posts

Send this to a friend