ENVIRONMENT

ชุดลาดตระเวน อช. น้ำตกห้วยยาง ช่วยหมูป่าติดบ่วงแร้ว สำรวจ พบบ่วงดักสัตว์อีกกว่า 50 จุด

เจ้าหน้าที่สายตรวจส่วนกลางชุดที่ 1 อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ลาดตระเวนเชิงคุณภาพตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ในเส้นทางบริเวณป่าหินเทิน หมู่ 5 ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบหมูป่าติดบ่วงแร้วจำนวน 1 ตัว จึงได้เร่งช่วยชีวิต ปลดแร้วที่ติดบริเวนขาหน้าออก พบว่าไม่มีแผลและขาไม่ได้หัก จึงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

เจ้าหน้าที่ยังลาดตระเวนปูพรมเพื่อค้นหาบ่วงแร้วที่เหลือ พบบ่วงแร้วเชือกพร้อมใช้งานอีกจำนวน 50 อัน จึงทำการเก็บกู้ออกจากพื้นที่ทั้งหมด พร้อมกันนี้ ได้จับกุมตัวนายอนุชาพร้อมอาวุธปืน เข้ามาในเขตอุทยานโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับแร้วดักสัตว์ มีลักษระเป็นบ่วงรูด จะกระตุกหรือทำงานเมื่อมีสัตว์ผ่านเข้ามาในห่วง พรานที่ล่าสัตว์จะนำบ่วงไปวางไว้ในทางที่สัตว์เดินผ่านไปมา หากสัตว์เดินหรือเหยียบกลไกนั้น บ่วงก็จะกระตุกไปรัดตัว ยิ่วเตะบ่วง บ่วงจะยิ่งรัดแน่นจนยากจะคลาย ยิ่งดิ้นแรง บ่วงจะยิ่งกินเข้าไปในเนื้อจนเกิดบาดแผล โดยบ่วงเหล่านี้จะไม่เลือกสัตว์ ดักสัตว์ได้แทบทุกประเภท ทั้งกวาง หมูป่า วัวแดง บางบ่วงจะถูกแขวนไว้ตามกิ่งไม้เพื่อคล้องกับหัวสัตว์ หรือต่อให้ไม่คล้องโดนหัว บ่วงก็ต้องติดกับส่วนหนึ่งส่วนใจของสัตว์ ทำให้สัตว์ไปไหนไม่ได้

ในอดีต อุปกรณ์ที่ใช้ทำบ่วงจะเป็นเชือกที่มีโครงแข็งเพื่อให้สามารถกางเป็นวงกลมได้ ไม่ยุบตัวเหมือนเชือกผ้า เพราะหากเชือกไม่กาง ต้องทำคานค้ำโดยใช้ไม้ง่ามปัก แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ลวดสลิงเพราะมีความเหนียวและเป็นทรงกว่าเชือก ที่สำคัญคือ ยากแก่การกัดหรือดิ้นให้หลุด ประสิทธิภาพในการกินเข้าไปในเนื้อสัตว์ที่ติดบ่อง จึงไม่ต่างจากคมมีด สัตว์ที่ติดบ่วงจะทุกข์ทรมานเพราะไปไหนไม่ได้ อดอาหารจนเสียชีวิต หรือไม่ก็ติดเชื้อจากแผลที่ข้อเท้า ไม้เว้นแม้แต่สัตว์ใหญ่อย่างช้าง

Related Posts

Send this to a friend