ENVIRONMENT

“คนริมโขง” เดือดร้อนหนัก เหตุผลกระทบจากเขื่อน ยื่นศาลปกครองสั่ง กฟผ. ระงับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นน้ำโขง

วันนี้ (14 ก.พ. 63) ที่ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เดินทางเข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีคดีเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน จากการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)โดยเป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติม หลังจากพบความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง บริเวณท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี ที่พรมแดนไทยลาว จาก อ.เชียงคาน จ.เลย ลงไปจนถึง จ.นครพนม และ จ.อุบลราชธานี อาทิ ระดับน้ำที่ผันผวน ขึ้นลงผิดธรรมชาติ และปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม ซึ่งหมายถึงแม่น้ำขาดตะกอน แร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำ และเกษตรกรรมตลอดลุ่มน้ำ ทั้งนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และนำส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเพิมขึ้น ที่กำลังเกิดใหม่ดังเป็นที่ประจักษ์

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่าในพื้นที่แม่น้ำโขงพรมแดนไทยลาวตอนล่าง เกิดผลกระบที่ชัดเจนและรุนแรงกว้างขวาง ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มฟ้องคดี เราเห็นแล้วในวันนี้ว่าผลกระทบที่ประชาชนเคยกังวล ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในแขวงไซยะบุรี ในลาวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางท้ายน้ำของเขื่อน ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานเป็นอย่างมาก เพราะเขื่อนไม่เคยเปิดเผยแผนรับมือภัยพิบัติ ว่าหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วจะมีมาตรการรับมืออย่างไร

ผู้ฟ้องคดีกล่าวอีกว่า แม้เขื่อนไซยะบุรีจะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่กฟผ.แล้ว แต่บริเวณท้ายน้ำของเขื่อน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขงเป็นที่ประจักษ์ กฟผ. ควรศึกษาผลกระทบในขณะที่เปิดประตูระบายน้ำให้แม่น้ำไหลปกติ และจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบในทันที

นายชาญณรงค์ วงลา สมาชิกกลุ่มฮักเชียงคาน จ.เลย และผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้งานเขื่อนในเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา ชาวเชียงคานพบว่าระดับน้ำโขงต่ำลงกว่าปกติมาก และขึ้นลงผิดธรรมชาติ และสาหร่ายเกิดขึ้นทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้นไคร้ตามเกาะแก่งแห้งตาย ปลาที่ชาวประมงจับได้ ก็เป็นปลาที่ผิดฤดูกาล เช่น จับได้ปลาเกล็ด ที่ปกติแล้วควรจับได้ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เพราะน้ำโขงแห้งตลอด ความกังวลของคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขง คือในอนาคตปริมาณปลาในแม่น้ำโขงอาจลดลงในระยะยาว เมื่อแม่น้ำโขงลดลง น้ำสาขาต่างๆ ก็ถูกดึงลงไป ไม่มีน้ำท่วมหลาก ปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ในลำน้ำสาขาและพื้นที่ชุ่มน้ำได้โดยการยื่นเอกสารเพิ่มเติมนี้ อยากให้ศาลมีคำสั่งโดยไว ให้ระงับการซื้อไฟฟ้าจนกว่าจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่าเราต้องการหวังว่าศาลจะใช้ดุลยพินิจในการให้ ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่เป็นตัวสนับสนุนให้เกิดเขื่อน ซึ่งปัจจุบันเกิดผลกระทบตามที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเราเชื่อว่ากระบวนการที่จะเกิดการคุ้มครอง เน้นที่ supppply chain ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตไฟฟ้านี้ ความรับผิดชอบของผู้ซื้อไฟฟ้า คือกฟผ. ต้องรับผิดชอบโดยขณะนี้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการชาติเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights) ที่จะต้องควบคุมให้เกิดการรับผิดชอบร่วม ไม่ใช้การซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนนอกประเทศกลายเป็นการทำให้เกิดการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน

หากชนะคดีนี้ ก็ต้องมีการเริ่มทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ในประเทศไทย หน่วยรัฐไทยต้องเข้าไปในการติดตามกระบวนการ PNPCA อย่างถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความเห็นต่อโครงการเขื่อนไซะบุรีอย่างที่ควรจะเป็น และต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี และรัฐต้องนำข้อห่วงกังวลของประชาชนไปเสนอในการประชุมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในฐานะรัฐสมาชิกของ MRC

นางสาวเฉลิมศรี ประเสิรฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่าหวังว่าศาลจะเรียกให้มีการไต่สวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เพราะข้อมูลในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง กำลังสร้างผลกระทบใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของประชาชนในทั้ง 4 ประเทศท้ายน้ำ เรามีความหวังว่าศาลปกครองจะเป็นกลไกที่ก่อให้เกิดการคุ้มครองและเยียวยา ทั้งต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

Related Posts

Send this to a friend