BRN ยืนยันการเจรจาสันติภาพเป็นทางออกที่ดีที่สุด ขอทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม

BRN ยืนยันการเจรจาสันติภาพเป็นทางออกที่ดีที่สุด เชื่อ เป็นก้าวแรกในทศวรรษสันติภาพปาตานี ขอทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมให้เกิดเป็นรูปธรรม
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมตลาดนัดสันติภาพ สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานีครั้งที่ 4 ร่วมถอดบทเรียน 10 ปีสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญภาคส่วนสำคัญบนโต๊ะเจรจาทั้งผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ BRN แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี มาปาฐกถา
ซึ่งในส่วน BRN มี อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN โดยได้แนะนำตัวเองในชื่อ อานัส ฮายี อับดุลเราะห์มาน เป็นตัวแทนแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN ขอขอบคุณผู้จัดงานที่ได้เชิญเข้าร่วมงาน แม้จะผ่านคลิปวีดีโอ เพราะเป็นสัญญาณแห่งความร่วมมือ หากได้รับการคุ้มกันจากรัฐบาลไทยอย่างเพียงพอ เชื่อว่าเราสามารถนั่งร่วมกันได้ และขอพรให้เกิดขึ้นได้
“ขอบคุณที่มีงานลักษณะนี้ และด้วยการมีกิจกรรมลักษณะนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพได้รับการสนับสนุน ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย เราต่างต้องการให้เกิดสันติภาพในปาตานี ซึ่งเริ่มมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ ฉันทามติทั่วไป เมื่อ 28 ก.พ.2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ในการเจรจาระหว่างนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีกับไทย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนาน การสูญเสียหลายหมื่นคน แม่หลายคนกลายเป็นหม้าย เด็กกำพร้าหลายพันคน ได้รับผลกระทบจากสงครามที่ยาวนานและไม่สิ้นสุด”
อุสตาส อานัส ฮายี อับดุลเราะห์มาน กล่าวว่า เราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยอารยธรรม ทุกเชื้อชาติที่มีอยู่บนแผ่นดินต้องการที่จะอยู่อย่างเท่าเทียมกับเชื้อชาติอื่นๆ ในสภาวะความสุข สันติ ปลอดภัย บนพื้นฐานและคุณค่าความเป็นมนุษยชาติ ที่มีอารยะธรรม ดังนั้นการกดขี่ในทุกรูปแบบ ความโหดร้ายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ และการล่าอาณานิคมในทุกรูปแบบได้หมดไปจากโลกนี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมและความยุติธรรม
“ด้วยเหตุผลนี้การเจรจาสันติภาพจึงเป็นทางเลือกหรือวิธีที่ถูกต้องที่สุด ในการแก้ไขความขัดแย้งหรือข้อพิพาท ระหว่างเชื้อชาติ ในการระบุต้นตอของปัญหา ค้นหาจุดร่วมและสร้างความเข้าใจ คลี่คลายปมความขัดแย้ง แก้ปัญหาอย่างยุติธรรม มีศักดิ์ศรีอย่างยั่งยืน”
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN กล่าวว่า ประชาชนชาวปาตานี เข้าใจและรับรู้ดีว่า ชาวปาตานีกำลังรอด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมของสันติภาพที่แท้จริง สันติสุขเชิงบวกที่จะกิดขึ้นที่ปาตานีในไม่ช้าพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเหมือนชาติอื่นๆ ที่อยู่อย่างสงบสุข ทั้งมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีในฐานะชาติอันสูงส่งและมีเกียรติ
“ในกระบวนการเจรจาของเรา ตลอดหนึ่งทศวรรษที่กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่าง BRN และไทยแน่นอนว่า ประสบกับการขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเส้นทางบางครั้งช้า และเดินหน้าได้ แต่ดำเนินการไปทีละขึ้นก้าวไปข้างหน้ากว่าทั้งสองฝ่ายจะมีจุดร่วมกัน และสามารถจัดทำข้อตกลงบางอย่างเป็นขั้นตอนเริ่มต้น ในกระบวนการเจรจานี้และสร้างสันติภาพที่แท้จริง ตามปฏิญญาชาวปาตานี และประชาชาติปาตานี”
อุสตาส อานัส ฮายี อับดุลเราะห์มาน กล่าวว่า กระบวนการเจรจาที่ได้บรรลุข้อตกลงสองฝ่าย ระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มด้วยการลงนามในฉันทามติทั่วไป ในวันที่ 28 ก.พ.2556 เป็นจุดเริ่มต้นของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพปาตานี โดยเฉพาะบีอาร์เอ็น โดยรัฐบาลไทยตกลงที่จะแก้ไขความขัดแย้งนองเลือดในปาตานีด้วยสันติวิธีหรือด้วยการแก้ปัญหาทางการเมือง นี่คือจุดเร่ิมต้นในประวัติศาสตร์การต่อสู้ปัตตานี ยอมรับว่าขบวนการปลดปล่อยปาตานีเป็นศัตรูทางการเมือง ไม่ใช่ในฐานะขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือผู้ก่อการร้าย หรือผู้ก่อกวนสันติภาพอย่างที่ถูกเรียกก่อนหน้านี้
“หลังการลงนามในปี 2556 ทั้งสองยังสามารถจัดทำกรอบการเจรจาสันติภาพในวันที่ 16 พ.ย.2562 หรือความริเริ่มเบอร์ลิน ได้รวมอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ และกลไกการเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย และในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยหลักการทั่วไปในการเจรจาสันติภาพ เป็นพิธีสารที่มีประเด็นเกี่ยวกับมติทางการเมืองและการปรึกษาหารือสาธารณะ ลดปฏิบัติการทางหาร หรือลดความรุนแรง ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดมื่อ 22 ก.พ.2566 เป็นการออกแบบแผนการประชุมเพื่อความร่วมมือสู่สันติภาพหรือ JCPP เป็นแนวทางที่มีรายละเอียดกฎหมาย เป็นโรดแมปสู่สันติภาพ ในส่วนที่เกี่ยวกับการหยุดยิง และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมติทางการเมือง ตามที่อยู่ในหลักการทั่วไปที่ตกลงกัน”
อุสตาส อานัส ฮายี อับดุลเราะห์มาน เห็นว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การเจรจาสันติภาพทั้งหมดยังมีลักษณะเป็นนามธรรม แต่จำป็นต้องให้เกิดขึ้นจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรม
“นี่คือขั้นตอนเริ่มต้นในกระบวนการเจรจา ในก้าวแรกของทศวรรษแต่ไม่ว่าจะกรณีใด ตราบใดที่กระบวนการเจรจา เรารู้ดีว่าการเจรจาเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ใช่แค่หนทางหรือวิธีแก้ไขความขัดแย้งเท่านั้น แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นในกระบวนการเจรจา สามารถดำเนินการอย่างสมดุลกับการสร้างอัตลักษณ์เพิ่มพูนเกียรติยศของชาติ นั่นเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังการต่อรองเจรจา”
อุสตาส อานัส ฮายี อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN กล่าวทิ้งท้าย หวังว่าพวกเราทุกคนจะมีส่วนร่วมโดยทั่วถึงในความพยายาม ที่จะแก้ไขชะตากรรมของประเทศนี้ เพราะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย สงบสุข มั่งคั่ง และยั่งยืนของปาตานี บนพื้นฐานดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่มีพระเจ้าผู้ทรงให้อภัย