DEEPSOUTH

ยะลา พบผู้ติดเชื้อวันนี้ 671 ราย ขอประชาชน ผ่อนคลายแบบเข้มงวด เน้นวินัย

วันนี้ (23 ก.ย. 64) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือเรื่องการตรวจคัดกรองลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงด้วยอุปกรณ์ชุดตรวจ (ATK) ในสถานประกอบการ นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์จังหวัดยะลาวันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ 671 ราย (อ.เมือง 295 ราย, เบตง 53 ราย,รามัน 100 ราย,ยะหา 54 ราย,บันนังสตา 59 ราย, กาบัง 28 ราย,ธารโต 39 ราย และ กรงปินัง 43 ราย) รวมผู้ป่วยสะสมใน จ.ยะลา ทั้งสิ้น 19,174 ราย เสียชีวิต 1 ราย (เสียชีวิตสะสม 164 ราย) รักษาตัวใน รพ. 4,502 ราย รักษาหายแล้ว 14,508 ราย

สาเหตุที่พบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากการตรวจเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้อในโรงงานและสถานประกอบการ อีกทั้งจากการผ่อนคลายมาตรการของจังหวัดยะลา ให้มีการเปิดบริการ หรือทำกิจกรรมได้ ทำให้ประชาชนบางส่วนการ์ดตก ดังนั้นจังหวัดจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเข้มงวด ในเรื่องการเดินทางเข้า – ออก จังหวัด และมาตรการการบริการในร้านอาหาร รวมถึงการตรวจ ATK เชิงรุก ในสถานประกอบการและหน่วยงานราชการ เพื่อการควบคุมป้องกันการระบาด

นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง จากรายงานพบผู้ป่วย 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นผู้ป่วยที่มีอาการและเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาล (ARI Clinic : คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ) ซึ่งสอดคล้องกับประชาชนบางส่วนไม่ได้ผ่านการตรวจเชิงรุก ทำให้เข้าสู่ระบบการรักษาช้าและสามารถเป็นพาหนะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ทั้งภายในครอบครัว (โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง : ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียง) และสถานที่ทำงาน โดยเมื่อมีอาการจึงยอมเข้าไปตรวจเอง ทำให้เสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้

นายแพทย์อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา กล่าวถึงศักยภาพของโรงพยาบาล ในการรองรับผู้ป่วย ซึ่ง ขณะนี้รวมเตียงผู้ป่วยทุกประเภท (อาการน้อย/อาการปานกลาง และอาการรุนแรง) จำนวนทั้งสิ้น 3,296 เตียง ใช้ไป 2,916 เตียง (ร้อยละ 88.47) และเตียงว่าง 380 เตียง ถ้าหากสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 600 รายทุกวัน โดยผู้ป่วยทุกคนนอนโรงพยาบาลคนละ 10 วัน (ระยะเวลาที่กำหนดให้รักษาในโรงพยาบาล) จำเป็นต้องหาเตียงรองรับ 6,000 เตียง ซึ่งเพิ่มเป็น 2 เท่าของเตียงที่มีอยู่ จากสถานการณ์คาดการณ์ จึงจำเป็นต้องเตรียมระบบโดยเปลี่ยนรูปแบบการนอนโดยผู้ป่วยอาการปานกลาง – รุนแรง จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล

ส่วนผู้ที่มีอาการน้อยให้อยู่โรงพยาบาลสนาม และผู้ที่ไม่แสดงอาการ ให้อยู่ที่ศูนย์แยกกักในชุมชน : CI หรือ HI ในกรณีที่มีความพร้อมที่จะอยู่ได้ โดยใช้ระบบการสื่อสารทางไกล (Telemedicine) ตลอดจนถึงหากมีผู้ป่วยหนักก็จะส่งผลต่ออุปกรณ์ การใช้เครื่องช่วยหายใจและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด และส่งผลต่อระบบการรักษาโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend