DEEPSOUTH

ยะลาเร่งฉีดวัคซีนพร้อมตรวจเชิงรุกให้ แรงงานล้งทุเรียนสร้างความเชื่อมั่นส่งออก

จากกรณีทางการจีนได้สุ่มตรวจการนำเข้าทุเรียน และพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนบนกล่องทุเรียนจากการนำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยนั้น เพื่อสร้างเชื่อมั่น ให้กับผู้บริโภคตลาดปลายทาง ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 

ในวันนี้ ( 18 ส.ค.64) เวลา 15.30 น.จังหวัดยะลา โดย นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา สาธารณสุขจังหวัดะลา พาณิชย์จังหวัดยะลา เกษตรจังหวัดยะลา อบจ.ยะลา ได้ร่วมกันลงพื้นที่ปูพรมทำความสะอาดล้ง ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก และ ฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้ประกอบการและคนงานในล้ง ทั้งจังหวัดยะลา จำนวน 69 แห่ง แบ่งเป็นอำเภอเมืองยะลา 41 ล้ง จำนวน 334 คน แบ่งเป็น อำเภอเบตง 14 ล้ง จำนวน 238 คน อำเภอธารโต 5 ล้ง จำนวน 24 ราย อำเภอกรงปินัง 3 ล้ง จำนวน 17 ราย อำเภอบันนังสตา 6 ล้ง จำนวน 27 ราย รวมทั้งจังหวัด 69 ล้ง 640 คนจำนวน 640 คน ซึ่งในวันนี้ได้ทำการฉีดวัคซีนให้คลอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัดยะลา พร้อมกัน 

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ปูพรมครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของ ศบค. จังหวัดยะลา ซึ่งมี นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธาน ทางการจีนได้สุ่มตรวจการนำเข้าทุเรียน และพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนบนกล่องทุเรียนจากการนำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยได้ 

ซึ่งการปูพรมฉีดวัคซีน และ ตรวจเชิงรุก ตลอดจนการทำทำความสะอาดล้ง การในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่ออผู้บริโภคทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และ ตลาดปลายทางต่างๆ เนื่องจากตลาดรับซื้อทุเรียนในจังหวัดยะลา ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 รองจาก จังหวัดชุมพร โดยมี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และ พ่อค้ารายย่อย ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำผลผลิตมาจำหน่ายที่จังหวัดยะลา

ด้านนางเพ็ญนุรัตน์ โพธิ์โพ้น ผู้ประกอบการรับซื้อทุเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได่ส่งผลกระทบต่อชาวสวนทุเรียนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากอุปสรรคในการส่งออกผลผลิต มีปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ตนเองก็ต้องปรับแผนในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน ซึ่งที่ผ่านมานั้น ก็นำแรงงานมาทำงานที่ล้งทุเรียน โดยได้มีการตรวจสอบ และเช็คสุขภาพ ทำประวัติ ตามมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย 

และจากปัญหาการส่งออกผลผลิตในปีนี้ ตนก็ต้องปรับแผน จากที่เคยส่งออกผลผลิตไปประเทศจีน มาปรับเปลี่ยนเป็นทำทุเรียนแช่แข็งโดยการรับซื้อทุเรียน ทั้งการคัดเกรดทุเรียนส่งเป็นลูก และการรับซื้อทุเรียนที่ตกไซด์ ไม่ได้ขนาด หรือผลไม่สวย มีตำหนิ มาส่งให้กับโรงงานแกะเนื้อแช่แข็ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน ให้สามารถขายผลผลิตได้ ซึ่งในการดำเนินการตรวจเชิงรุกของทางจังหวัดในวันนี้ ก็เป็นผลดี ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งเกษตรกรชาวสวนที่นำผลผลิตมาขาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่รับซื้อผลผลิตจากจังหวัดยะลา 

สำหรับจังหวัดยะลา มีผลผลิตทุเรียนทั้งจังหวัดประมาณ 57,042 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 33,083 ตัน คิดเป็นร้อยละ 58 จำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 31.15 ส่งออกร้อยละ 68.84 แยกเป็น จำหน่ายในรูปผลทุเรียนสด ร้อยละ 49.87 และทุเรียนแปรรูปแช่แข็ง ร้อยละ 18.97 และ ปัจจุบันมีแนวโน้มในการจำหน่ายในรูปแบบทุเรียนแปรรูปแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรับซื้อทุเรียน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ และเพื่อให้ทุเรียนปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

Related Posts

Send this to a friend