DEEPSOUTH

เปิดตัว “ลิ้มรสความทรงจำ : ตากใบ 2547” หนังสือรวม 17 ความทรงจำ ช่วยคืนชีวิตให้ผู้สูญเสีย

วันนี้ (14 มี.ค. 66) โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ เปิดตัวหนังสือ “ลิ้มรสความทรงจำ : ตากใบ 2547” ดำเนินรายการโดย แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ภายใต้โครงการ “สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547” จัดขี้นระหว่างวันที่ 9-14 มีนาคม 2566 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 2 ตำหนักพรรณราย มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

นิการีม๊ะ หะยีนิเลาะ นักวิจัยในพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบที่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลในหนังสือกว่า 17 คน เคยเป็นบัณฑิตเยาวชนระหว่างเกิดเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 ได้เปิดประเด็นโดยเปิดเผยว่า การสำรวจเก็บข้อมูลในช่วงแรกเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไม่มีข้อมูลผู้เสียชีวิตเลย รู้ถึงเหตุการณ์ได้เพียงผิวเผินเท่านั้น

เสื้อผ้าของผู้เสียชีวิตคนหนึ่ง คือความทรงจำชิ้นแรกที่ นิการีม๊ะ ค้นพบ ก่อนจะเริ่มเดินทางแสวงหาพยานวัตถุทีละครัวเรือน จนต่อมาเธอตระหนักได้ว่า ความทรงจำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงสิ่งของเสมอไป แต่เป็นสถานที่ บ้านเรือน และความคิดที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่

“ไม่มีคนไหนที่พูดแล้วไม่ติดขัด ไม่มีคนไหนที่พูดแล้วสบาย ๆ แต่ละคนพูดแล้วน้ำตาคลอ พูดแล้วเหมือนใีก้อนแข็ง ๆ อยู่ที่คอ พูดไปก็ปาดน้ำตาไป เราก็น้ำตาคลอไปด้วยบางคราว”

ถัดมาที่บรรณาธิการของหนังสืออย่าง ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร บอกเล่าว่า เห็นต้นฉบับของนักวิจัยในพื้นที่ได้เยอะมาก จนบางคนบอกว่าบรรณาธิกรน้อยไปหรือเปล่า เพราะแทบไม่ตัดเลย

“เราอยากให้หนังสือเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่การเล่า โดยแต่ละเรื่องมีใจกลางคือมนุษย์ เพื่อให้เห็นว่าวิถีชีวิตเป็นอย่างไร บางคนอายุยังไม่ถึง 15 ต้องไปทำงานมาเลย์แล้ว หรือผู้หญิงทำอย่างไรเมื่อผู้ชายไม่อยู่แล้ว สุดท้ายรัฐอยู่ตรงไหนในวงรอบนี้…”

ฆัสรา มองว่า ความทรงจำเป็นสิ่งที่ Abstract (นามธรรม) มันอยู่ในใจของมนุษย์ จึงไม่ง่ายที่ความทรงจำจะผ่านออกมาเป็นคำพูด แต่เมื่อเขาพูดมันคงผ่านกระบวนการมาระยะหนึ่ง ความทรงจำมันลอยอยู่ในชานบ้าน แต่ตัวมันเองก็ไม่ได้มีขม ก็มีรสหวานด้วย จึงตั้งชื่อหนังสือว่า “ลิ้มรสความทรงจำ : ตากใบ 2547” ที่ไม่ต้องใช้ศัพท์แสงอะไร แต่ให้คนอ่านเข้ามาวิเคราะห์เอง

“จะอ้วก” คือความรู้สึกแรกของ วีรพร นิติประภา นักเขียน ในฐานะผู้อ่าน หลังจากเรียนรู้เรื่องราวภายในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำที่ถูกบอกเล่าออกมา ในหมู่มวลความทรงจำอื่นอีกที่ไม่ถูกบอกเล่า จน วีรพร สรุปเบื้องต้นได้ว่า ความทรงจำของตากใบ คือสิ่งที่บอกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร

“การคืนชีวิตให้กับผู้ตายเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วเราพูดถึงกันน้อยมาก ไม่ใข่แค่คืนชีวิต แต่คืนความเป็นมนุษย์ด้วย”

สิ่งที่ วีรพร บอกว่าอยากรู้คือ เกิดอะไรขึ้นบนรถเหล่านั้น เรารู้เพียงร่างกายทับกันและขาดอากาศหายใจ ทั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขี้นกันแน่ เมื่อมีความไม่รู้ จนความทรงจำกลับมาไม่หมด กลายเป็นความทรงจำที่มีรู ใครสักคนก็สามารถจะยัดชุดความเขื่อใส่เข้าไปในรูนั้น เช่น “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “ผู้ปลุกระดม” จนอาจกลายเป็นชุดความเท็จ

“ความทรงจำเป็นสิ่งเดียวที่ยืนยันว่าเราคือใคร แผ่นดินนี้ 3 จังหวัดนี้คืออะไร เราจำเป็นที่ต้องเก็บเท่าที่เราเก็บได้ หรือมากไปกว่านั้น คือความมีชีวิตชีวาของคนเหล่านั้น พร้อมทั้งเรียกร้องการพิจารณาหาคนผิด เพราะการลงโทษจะป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก…” นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend