DEEPSOUTH

‘จาตุรนต์’ เผยประเด็นศึกษาสำคัญของ กมธ.สันติภาพฯ

ยอมรับ การใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก และความทับซ้อนของ 3 องค์กรรัฐดูแลจังหวัดชายแดนใต้ เป็นประเด็นศึกษาสำคัญของ กมธ.สันติภาพฯ จ่อเชิญอดีตหัวหน้าคณะเจรจาฯ-นักวิชาการ ให้ข้อมูล ย้ำให้ความสำคัญการรับฟังประชาชน พร้อมผลักดันเป็นวาระของคนไทยทุกคน

วันนี้ (8 พ.ย. 66) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประชุมตามวาระปกติ และได้เชิญ 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เข้าให้ข้อมูล ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองอำนวยการรัษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใช้เวลาประชุมราว 4 ชั่วโมง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ระบุว่า เรื่องที่คุยวันนี้เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาความมั่นคง การบริหารจัดการ และเรื่องที่อยู่ในมิติต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลการบริหารงานด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคง การพัฒนา การบริหารจัดการองค์กร การบังคับใช้กฎหมาย การจะใช้กฎหมายพิเศษต่อไปหรือไม่ สถานการณ์เป็นอย่างไร และมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง เพื่อจะทำให้คณะกรรมาธิการมองเห็นสถานะของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน นำไปสู่การตั้งประเด็นศึกษา ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ ควรมีตัวชี้วัดอย่างไร เรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษจะมีเงื่อนไขหรือตัวชี้วัดว่าควรใช้หรือไม่ควรใช้ อย่างไร ทั้งกฎอัยการศึกและ พรก.ฉุกเฉิน ควรยกเลิกหรือใช้ต่อไป รวมถึงองค์กรที่บริหารทั้ง 3 องค์กรล้วนมี พรบ.คนละฉบับ ทุกหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แม้จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนแต่เข้าใจว่าหลายอย่างใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีกำกับไว้ เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทำให้คำสั่งสิ้นสภาพด้วย ได้รับข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปในอนาคตว่าโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าว The Reporters ถามถึงการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะกฎอัยการศึก ที่อาจไม่ค่อยได้พูดถึงในรัฐบาลชุดนี้มากนัก นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หน่วยงานที่มาในวันนี้ได้ชี้แจงเหตุผล วิธีคิดในการใช้กฎหมายเหล่านี้ ในวันนี้ กมธ.ไม่อาจให้ความเห็นได้ในทันทีเพราะต้องศึกษาในภาพรวมทั้งหมด แต่ยอมรับว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญของ กมธ.ชุดนี้ ในการจัดทำข้อสรุปเพื่อเป็นข้อเสนอในนามคณะกรรมาธิการฯ ให้รัฐบาล และติดตามรับทราบการพิจารณาของรัฐบาลให้ต่อเนื่อง โดยจะรับฟังจากผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนในพื้นที่ แล้วมาวิเคราะห์ให้เกิดข้อสรุปให้เป็นข้อเสนอ ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า กมธ.จะเห็นว่าควรยกเลิก ปรับเปลี่ยนกฎหมายไหนอย่างไร ไม่มีใครรู้คำตอบล่วงหน้า แต่ถือเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ต้องศึกษา และพบว่าความเห็นบางอย่างของหน่วยงานผู้ปฏิบัติในวันนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการ ภาคประชาชนด้วย

“กรรมาธิการมีหลายคนมากที่มีความรู้ และมีประสบการณ์โดยตรง มีความกระตือรือร้นมาก กรรมาธิการจะพยายามรวบรวมและสังเคราะห์ออกมาให้เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของรัฐบาล และรัฐสภาว่าจะต้องออกกฎหมายอะไร เช่น การเจรจาต้องการกฎหมายไหม คำสั่ง คสช.ที่มีผลทำให้เป็นอุปสรรคบางอย่าง วันนี้หน่วยงานก็เห็น” ประธาน กมธ.สันติภาพ กล่าว

ส่วนกรณีที่สังคมวิพากษ์บทบาทของหน่วยงานดูเป็นรัฐซ้อนรัฐ เช่น กอ.รมน. อาจมีบทบาททับซ้อนหน่วยงานรัฐอื่น นายจาตุรนต์ ระบุว่า วันนี้มี 3 หน่วยงานมาชี้แจง ตนเองเป็นคนตั้งคำถามว่ามีระบบบูรณาการอย่างไร เท่าที่ดูเห็นว่าระบบนี้ใช้คณะกรรมการขับเคลื่อนที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี สมช.เป็นเลขาฯ แต่ดูแล้วยังไม่ชัดเจน ลั่กลั่น เหลื่อมๆกันอยู่ ไม่แน่ว่า จะมีการบูรณาการกันได้จริงแค่ไหน แต่จากที่ได้รับฟังคำชี้แจงเราก็เห็นปัญหานี้เป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งที่ต้องศึกษาต่ออย่างแน่นอน เนื่องจากทั้ง 3 หน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีทั้งหมด และมี พรบ.ของตัวเองหมด ถึงแม้บอกว่ามี พรบ.บางฉบับที่จะทำให้เกิดการจัดระบบบูรณาการ แต่ฟังดูก็น่าจะยังยาก ดังนั้นระบบที่ดีควรเป็นอย่างไร เป็นประเด็นที่ กมธ.จะต้องศึกษาต่อไป แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งเรื่องกฎหมายพิเศษ โครงสร้างองค์กรที่จะดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเป็นระบบที่ดีและมีบูรณาการที่ดี มีประสิทธิภาพ หลังฟังความเห็นหลายฝ่ายและลงพื้นที่รับฟังความเห็นให้เต็มที่แล้วน่าจะได้หัวข้อเพื่อถกเถียงให้เกิดข้อเสนอต่อไป

ส่วนการเจรจาสันติสภาพที่หลายฝ่ายอยากเห็นพลเรือนมีบทบาทเหนือหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นายจาตุรนต์ มองว่า ในขณะนี้กระบวนการเจรจาสันติภาพยังชะงักอยู่ รอการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. หัวหน้าคณะฯมีการตั้งแล้วก็จริง แต่ยังคงชะงักอยู่พอสมควร เรามีคณะอนุกรรมการศึกษาเรื่องกระบวนการเจรจาฯ โดยเฉพาะ เราจะฟังความเห็นจากผู้ที่เคยทำงานนี้มาทั้งหมด จะตั้งประเด็นว่า การทำให้การเจรจาพูดคุยสันติภาพได้ผลควรจะทำอย่างไร ผู้เจรจาควรเป็นใคร ควรมีสถานะอย่างไร ผู้มาเกี่ยวข้องจะเป็นใคร รวมถึงการเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด รับฟังทุกฝ่าย และสิ่งที่จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาคือจะรับฟังคนในพื้นที่อย่างเต็มที่ และจะรับฟังคนนอกพื้นที่ด้วย เพราะถือว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ต้องให้คนในสังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากขึ้นและสนับสนุนการแก้ปัญหา

โดยหลังจากนี้จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆมาอธิบายสถานะการแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะต่อไป เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สภาพัฒน์ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น และหลังจากเชิญหน่วยงานรัฐแล้วจะมีการเชิญนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องนี้แล้วมาให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ บทบาทภาครัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เห็นปัญหาโดยไม่ต้องนับหนึ่ง ฟังจากคนที่เคยศึกษาไว้แล้ว นอกจากนี้จะเชิญผู้ที่เคยทำงานในคณะเจรจาสันติภาพมาก่อนตั้งแต่ปี 2556 มาให้ข้อเสนอด้วย

Related Posts

Send this to a friend