DEEPSOUTH

เปิดใจ “อานัส อับดุลเราะห์มาน” หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN เชื่อการร่วมพูดคุยกับรัฐไทยเป็นสัญญาณที่ดีต่อสันติภาพ

The Reporters ได้สัมภาษณ์พิเศษคร้ังแรก นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ขบวนการ BRN ที่ร่วมพูดคุยกับ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ของรัฐไทย ที่มีพลเอกวัลลภ รักเสนาะ ซึ่งมีการลงนามในร่าง TOR ในการพูดคุยร่วมกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 โดยผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ตันสรี อับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นอร์

นายอานัส อับดุลเราะห์มาน เปิดเผยว่า เหตุผลสำคัญที่ BRN เข้าร่วมพูดคุยกับรัฐไทย เพราะเห็นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับขบวนการ BRN โดยการนำของนายอานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นกลุ่มเดียวกับ BRN ชุดที่มีนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยร่วมกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556

ซึ่งหลังจากยึดอำนาจของ คสช.ได้ยุติการพูดคุยไป และหลังจากนั้น คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย ที่มีพล.อ.อักษรา เกิดผล ได้พูดคุยกับกลุ่ม Mara Patani (มารา ปาตานี) ซึ่งแม้ในมารา ปาตานี จะมีนายอาวัง จาบัท และนายสุกรี ฮารี ที่เป็น BRN แต่ไม่ได้พูดคุยในนามของ BRN ที่เป็นองค์กรเดี่ยว และได้มีการแถลงเรื่องนี้ไปแล้ว

“BRN ที่ร่วมพูดคุยกับรัฐไทย ในนามองค์กรคือชุดที่มีนายฮัสซัน ตอยิบ และชุดนี้ที่นำโดยผม” อานัส อับดุลเราะห์มาน ย้ำ

โดยที่ผ่านมา BRN มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐไทย ทั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล และพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ แต่เหตุที่มาตกลงร่วมพูดคุยในชุดของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่การต่อสู้ในปาตานี ต้องนำมาสู่โต๊ะเจรจา และมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลทหาร มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้นายกรัฐมนตรีจะยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่ง BRN ก็ยังให้ความสำคัญกับ ประชาธิปไตย และเห็นว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพจะสำเร็จยาก หากการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย

นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ขบวนการ BRN

The Reporters สอบถามหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN ว่า การที่ BRN เข้าร่วมเจรจาสันติภาพ จะสวนทางกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของ BRN ที่ยังมีอยู่ในพื้นที่หรือไม่

นายอานัส ตอบว่า การเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย BRN ไม่ได้หยุดทางการทหาร แต่การเจรจาเป็นเรื่องทางการเมือง ที่มีความจำเป็นต่อการสร้างสันติภาพ ซึ่งนี่คือทางเลือกสำคัญ ที่ BRN เชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอานัส ย้ำว่า จุดยืนสำคัญของขบวนการ BRN คือต้องการเอกราช ตามชื่อ ของขบวนการ BRN ที่ว่า ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani แต่ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น BRN เห็นว่า จะต้องยึดเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย BRN จึงอยากให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุดในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพราะ BRN จะเดินโดยลำพังไม่ได้

You will never walk alone

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขขบวนการ BRN ย้ำว่า การเข้าร่วมพูดคุยเพื่อสันติภาพของ BRN ในครั้งนี้ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อเดิมที่เคยเสนอในสมัยของนายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อ 7 ปีก่อน นายอานัส เปิดเผยว่า ยังมีอยู่แต่ต้องเดินไปตาม Road Map ซึ่งต้องรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ทั้ง Ngo,Cso และประชาชนทุกชาติพันธุ์ทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นอิสลาม จีน และพุทธ

“การที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับ BRN เราไม่ได้เจาะจงชาวมลายู แต่ชาติพันธุ์ ศาสนาอื่น ก็เป็น หุ้นส่วนสำคัญของเรา” นายอานัส ย้ำ

The Reporters ถามว่า 15 ปีที่ผ่านมา คนพุทธในพื้นที่คิดว่า การใช้ความรุนแรงของ BRN ต้องการกดดันให้คนพุทธออกจากพื้นที่หรือไม่

นายอานัส ตอบว่า นโยบายของ BRN ไม่ได้แบ่งแยกชาติพันธุ์ ทุกคนที่อยู่ในปาตานี มีสิทธิมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างชื่อย่อตัวสุดท้าย N คือ National ไม่ว่าพุทธ จีน อิสลาม เราไม่ได้แบ่งแยก BRN ต่อสู้เพื่อชนชาติในปาตานี เพื่อสันติภาพที่แท้จริง นี่คือนโยบายของ BRN

“BRN พยายามสร้างความเข้าใจทุกศาสนา สร้าง ปาตานี ที่สงบสุขอย่างแท้จริง จึงฝากถึง พี่น้องพุทธ มุสลิม และทุกคนว่าเรา พยายามทุกสิ่งทุกอย่างในการแก้ปัญหา จึงขอประชาชนอยู่เคียงข้างเรา”

The Reporter สอบถามว่า ในเมื่อ BRN มีเป้าหมายต้องการเอกราช แต่การฟังเสียงของประชาชน แล้วเข้าสู่โต๊ะเจรจา ในขณะที่พื้นที่คิดรูปแบบที่รองรับความต้องการของประชาชน เช่น เขตปกครองพิเศษ ดังนั้นการพูดคุยจะมีพัฒนาการไปถึงจุดไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่อยากรู้

นายอานัส ตอบว่าในแนวทางการต่อสู้ขบวนการ BRN ก็มีเป้าหมาย แต่ประชาชนก็มีความต้องการของประชาชนเอง ดังนั้นเราไม่ทิ้งทั้งสองอย่าง เราต้องดูในปัจจุบันด้วย และการเจรจา จะทำให้เราเห็นว่าจะเดินไปสู่สันติภาพที่แท้จริงอย่างไร

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข BRN ยอมรับว่า BRN ตระหนักถึงการสูญเสีย ทั้งมุสลิม พุทธ ซึ่งเรายังมีกำลังในพื้นที่ ทำให้ยังต้องมีการดำเนินการทหาร แต่การเข้าสู่โต๊ะเจรา ก็เป็นสิ่งที่บอกว่า เราจะเดินไปสู่การเจราทางการเมือง

ซึ่งหลังการตกลงพูดคุยในกรอบความร่วมมือร่วมกันแล้ว ก็จะเดินไปสู่ การหยุดใช้อาวุธ หรือการหยุดยิง Ceasefrier Agreement รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safty Zone ต่างๆร่วมกันได้ เมื่อถึงจุดนั้น การใช้อาวุธก็ยุติลง ก่อนจะเริ่มต้นเจรจาทางการเมือง Political Dialouge

“BRN เดินไปตามโรดแมป หลังการพูดคุยกับรัฐไทย ครั้งแรกเมื่อ 20 ม.ค.63 สองฝ่ายเห็นด้วยกับ ร่าง TOR ที่เป็นกรอบในการพูดคุยกัน ซึ่งขั้นตอนแรกที่ต้องทำให้ได้คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ Confident Building ซึ่งรัฐไทยต้องสร้างความจริงใจด้วย

โดยในการพบกันครั้งต่อๆไปนั้น จะมีการรับข้อเสนอจากเสียงประชาชน โดยผ่านผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาคประชาสังคมและตัวแทนประชาชนในพื้นที่มาร่วมพูดคุยด้วย” และการพูดคุยที่จะถึงนี้ ทาง BRN ได้เตรียมแนวคิด Inclusivity ให้กับฝ่ายไทย เพื่อให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้มีพื้นที่สื่อสารโดยทางตรงกับเหล่า CSO, NGO, นักการเมือง และอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่อีกด้วย.

สำหรับกลุ่มอื่นๆ รวมทั้ง Mara Patani จะอยู่ในโต๊ะเจรจาหรือไม่ หรือจะเป็นการพูดคุยแบบแต่ละกลุ่ม เช่น Pulo จะเข้าร่วมแยกกลุ่มหรือไม่

นายอานัส กล่าวว่า ในชั้นนี้ BRN ยังคุยในนาม BRN เพียงกลุ่มเดียว ส่วนกลุ่มอื่นทางผู้อำนวยความสะดวกก็มีการหารือ แต่สำหรับ BRN เชื่อว่า หากการพูดคุยของ BRN ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้หลักของรัฐไทย ยังเดินไปไม่ได้ การพูดคุยกับกลุ่มอื่นก็เดินไปได้ยาก

ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย หลังนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ลาออกนั้น จะส่งผลต่อการพูดคุยหรือไม่ นายอานัส กล่าวว่า ขณะนี้การพูดคุยระหว่าง BRN กับ รัฐไทย ยังเดินไปไม่เปลี่ยนแปลง ยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ แต่ BRN ก็ติดตามการเมืองของมาเลเซีย อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกัน

The Reporters ถามนายอานัส ด้วยว่า มักจะมีการถามเสมอในการร่วมพูดคุยเพื่อสันติภาพว่า ตัวแทน BRN ที่มาร่วมโต๊ะเจรจานั้น เป็นตัวจริงหรือไม่

นายอานัส ตอบว่า รัฐบาลไทยรู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นใคร คงไม่ต้องบอกว่า เป็นตัวจริงหรือไม่ และประชาชนในพื้นที่ก็น่าจะทราบดี ว่า “ผมเป็นใคร”

การสัมภาษณ์ของนายอานัส อับดุลเราะห์มาน ที่รู้กันดีว่าเขาคือตัวจริงของ BRN ในวันครบรอบ 7 ปีการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จึงเป็นสัญญานที่ดีในการเดินหน้าสันติภาพชายแดนชายแดนใต้

The Reporters : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Related Posts

Send this to a friend