DEEPSOUTH

เดินทางไปเรียน 60 กม. / วัน ความฝันของเด็กสาวผู้มีหัวใจรักการเรียน

“60 กม.” คือระยะทางที่ “ฮาวาตี โต๊ะตอ” นักเรียนชั้น ม.1 ใช้เดินทางนั่งรถไปกลับโรงเรียนในแต่ละวัน          โดยขึ้นรถจาก ต.ศรีบรรพต ถึง ต.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

ที่เป็นอย่างนี้เพราะรอบบริเวณชุมชนของเธอ ไม่มีโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมแม้แต่ที่เดียว ดังนั้นหากไม่อยากหยุดเรียนหนังสืออยู่เพียงแค่ชั้น ป.6 ก็ต้องยอมแลกด้วยการตื่นนอนแต่เช้าทุกวันและกลับถึงบ้านช้ากว่าเพื่อนไปตลอดสามปี จนกว่าจะจบหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับในระดับ ม.3

และถึงแม้ว่าโรงเรียนบ้านคอลอกาเวที่ฮาวาตีเรียนอยู่ จะมีรถรับส่งเด็กนักเรียนทุกคนทั้งเช้าเย็น แม้ถนนจะอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี แต่ด้วยเส้นทางสายเล็กๆ ที่คดเคี้ยวในพื้นที่ที่มองไปทางไหนก็มีแต่ป่าแต่เขา และระยะทางที่ค่อนข้างไกล ก็ทำให้เธอเผยความรู้สึกถึงการเดินทางไปกลับจากโรงเรียนว่า ‘นั่งรถไปกลับทุก ๆ วัน ก็เหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกันค่ะ’

ความเหลื่อมล้ำที่ต้องเจอ ตลอดเส้นทางการเรียน

“ฮาวาตี” เป็นภาพแทนของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในเขตชายแดนภาคใต้ซึ่งมีทางเลือกไม่มาก เธอเล่าว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กและเยาวชนที่มาจากครอบครัวยากจนในหมู่บ้านมีวุฒิแค่ชั้น ป.6 หรือหลายคนก็ไม่ได้เรียนหนังสือเลย นั่นเพราะไม่มีทุนการศึกษา และโรงเรียนเท่าที่มีในพื้นที่ก็เปิดสอนแค่ชั้น ป.6

“ฮาวาตี โต๊ะตอ” นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านคอลอกาเว

“มีเยอะเหมือนกันค่ะ ที่เขาเรียนจบชั้น ป.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ หรือบางคนเรียนไม่ทันจบก็ต้องออกไปทำงาน พวกงานเก็บยางหรืองานรับจ้าง ครอบครัวของหนูก็มีอาชีพรับจ้างกรีดยางเหมือนกัน แต่เงินที่หามาได้ก็ไม่เคยพอจะส่งให้พี่น้องเรียนหนังสือได้ทุกคน” ฮาวาตีเล่าถึงโอกาสทางการศึกษาของเพื่อนวัยเดียวกันในหมู่บ้าน  

ครอบครัวของฮาวาตีมีพี่น้อง 6 คน เธอเป็นคนที่ 3 หลังพ่อกับแม่หย่าร้างกันตั้งแต่เธอยังเด็ก พ่อพาน้องคนที่ 4 กับคนที่ 5 ย้ายไปอยู่ที่อื่น เธอไม่เคยรู้เลยว่าทุกวันนี้น้องสองคนได้เรียนหนังสือกันไหม ตอนนี้เธออยู่กับแม่และพี่ชายคนโตที่ทำงานรับจ้าง และน้องคนเล็ก ส่วนพี่สาวคนที่ 2 แยกออกไปแต่งงานแล้ว ฮาวาตีบอกว่าถึงตอนนี้ เธอคือคนเดียวที่ได้เรียนสูงที่สุดในครอบครัว

“พี่สาวเป็นคนเรียนเก่งค่ะ แต่เรียนจบแค่ ป.6 ก็ต้องไปทำงานหาเงิน เพราะที่บ้านเราไม่มีเงินให้เรียนต่อ” ฮาวาตีพูดถึงพี่สาวผ่านน้ำเสียงที่เจือด้วยความเสียดาย

ส่วนเธอเองยอมรับว่า “ตอนที่เรียนจบ ป.6 หนูเคยคิดว่าคงไม่ได้เรียนต่อแล้ว เมื่อก่อนนี้หนูต้องขาดเรียนบ่อยไปทำงานรับจ้างเก็บยาง ช่วงไหนมีงานมากก็ต้องหยุดเรียนหลายๆ วัน ทำครั้งนึงได้เงิน 60-100 บาท หนูก็ให้แม่เก็บไว้ใช้ในบ้าน พอจบ ป.6 ก็คิดว่าคงต้องไปทำงานเหมือนกับคนอื่นๆ เพราะไม่มีโรงเรียนแถวบ้านให้เรียนต่อ เงินทุนเราก็ไม่มี แต่พอรู้ว่าที่โรงเรียนนี้มีทั้งรถรับส่งและมีทุนให้เรียน หนูเลยได้เรียนต่อชั้นมัธยมค่ะ”

ส่วนโรงเรียนบ้านคอลอกาเวที่ฮาวาตีเรียนอยู่นั้น เป็นเพียง 1 ใน 2 โรงเรียนขยายโอกาส (เปิดสอนถึงชั้น ม.3 เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ) ของตำบลศรีสาคร ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะทางและรายได้ของครอบครัว โรงเรียนบ้านคอลอกาเวจึงเป็นโอกาสเดียวที่ฮาวาตีจะไขว่คว้าเอาไว้ได้ เพราะมีทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน และรถรับเวลาไปเรียน

ถ้าไม่ได้เรียนหนูคงต้องไปทำงานกรีดยาง แล้วคงได้เงินไม่พอจะดูแลน้อง บ้านเราก็คงไม่มีใครมีหวังได้เรียนสูงๆ การเรียนจึงสำคัญกับชีวิตหนูมาก

เหลื่อมล้ำแค่ไหน ก็ต้องไปให้สุด

ถึงจะต้องใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นในการเดินทางทุกวัน ก็ไม่ได้ทำให้ฮาวาตีคิดท้อถอยกับการมาโรงเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เลย เพราะเธอมีตำแหน่งเป็นสภานักเรียน มีเกรดเฉลี่ย 3.00 กว่าทุกเทอม ซึ่งเป็นเกรดเฉลี่ยคงที่ตั้งแต่เรียนชั้นประถม

ส่วนด้านวิชาเรียน เธอชอบคณิตศาสตร์และภาษาไทย และได้รับเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าแข่งขันทักษะวิชาการมาแล้วหลายครั้ง  กับหน้าที่มากมายที่เหมือนจะเกินกว่าความรับผิดชอบของเด็กชั้น ม.1 คนหนึ่ง ฮาวาตีบอกว่า ‘รักที่จะทำ’ ด้วยความสนุก และเธอมีความสุขเสมอที่ได้มาโรงเรียนทุกๆ วัน เพราะการได้เรียนหนังสือ ทำให้เธอกล้าตั้งเป้าหมายในชีวิตได้สูงขึ้น และเริ่มเชื่อว่า ‘ความฝัน’ กำลังขยับเข้ามาอยู่ใกล้กับความจริงทีละน้อย

“หนูตั้งใจไว้ว่าจะเรียนต่อ ม.ปลาย อยากเรียนสายวิทย์ แล้วจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ถ้าเรียนจบแล้วอยากจะเป็นตำรวจ อยากกลับมาดูแลคนในหมู่บ้าน แต่อีกใจหนึ่งหนูก็อยากเป็นครู จะได้กลับมาสอนหนังสือให้น้องๆ ที่โรงเรียนของเรา”

ความตั้งใจ ที่มองไปไกลกว่าตัวเอง

ฮาวาตีไม่ได้วางเป้าหมายในการเรียนไว้สำหรับตัวเองเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงครอบครัวและระดับชุมชน ด้วยการเจียดเวลาไปทำงานเก็บยางช่วยแม่บ้างในวันหยุด “อยากช่วยแม่ให้เก็บตังค์ได้เยอะขึ้น หนูอยากให้น้องได้เรียนต่อเหมือนกับหนู”

เพื่อให้น้องซึ่งตอนนี้เรียนอยู่อนุบาล 3 ได้เรียนต่อมัธยมเหมือนกับเธอ ด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนจะสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ในครอบครัวและชุมชนของเธอได้

“ถ้าไม่ได้เรียนหนูคงต้องไปทำงานกรีดยาง แล้วคงได้เงินไม่พอจะดูแลน้อง บ้านเราก็คงไม่มีใครมีหวังได้เรียนสูงๆ การเรียนจึงสำคัญกับชีวิตหนูมาก สำหรับตอนนี้ ขอแค่ได้ไปโรงเรียนทุกวัน หนูเชื่อว่าความฝันของหนูจะเป็นจริงได้สักวันหนึ่ง” ฮาวาตี กล่าวปิดด้วยรอยยิ้ม     

และนี่คืออีกหนึ่งความภูมิใจของ “นักเรียนทุนเสมอภาค” จาก กสศ. โครงการที่สามารถบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร  และยังนำไปพัฒนาเสริมทักษะอาชีพ ซึ่งทำให้เด็กหลายคนสามารถมาโรงเรียนได้ไม่ต้องเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

เป็นแรงส่งให้ฮาวาตีได้เรียนต่อ และด้วย “ความรัก” ในการเรียนที่มากพอ รวมถึงความฝันที่อยากจบมาทำงานส่งน้องเรียน ดูแลบ้าน พัฒนาชุมชน  ยิ่งทำให้เธอสามารถเอาชนะปัญหาความเหลื่อมล้ำไปได้ในที่สุด ความมุ่งมั่นของเธอ จะเป็นแรงส่งที่ดีให้กับเด็กๆ ที่มีใจอยากเรียน รวมถึงสร้างประกายความหวังให้การศึกษาไทย

Related Posts

Send this to a friend