ART & CULTURE

ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง… “ห้องเรียนธรรมะเคลื่อนที่”

วันที่ 6 ของขบวนธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง เดินทางออกจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มุ่งหน้าสู่เส้นทางจากด่านสากล สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 4 ห้วยทราย- เชียงของ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ไปยังเมืองไซ แขวงอุดมไซ ระยะทาง 310 กิโลเมตร

ขณะที่ขบวนธรรมยาตราผ่านด่านชายแดน มีคณะคอยให้การต้อนรับคณะพระสงฆ์ธรรมยาตรา และคณะผู้บริหารสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย “เสาธรรมจักร” “ธงฉัพพรรณรังสี” และ “ธงธรรมยาตรา” ที่ถูกเชิญมา เป็นสัญลักษณ์ว่า “ขบวนธรรมยาตา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง” ได้ผ่านมายัง สปป.ลาวแล้ว

ตลอดเส้นทางที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคด ถนนตัดผ่านไหลเขาเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี บางช่วงเป็นไร่นาขั้นบันได แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ในช่วงที่เป็น “ชุมชน” จะเห็น “ร้านขายของชำ” เล็กๆตั้งอยู่ บางชุมชนก็จะขายพืชผลทางการเกษตรเรียงรายสองข้างทาง

ระหว่างการเดินทางบนรถบัส 4 คันของคณะธรรมยาตราต้องหยุดเป็นระยะ เพราะมีประชาชนชาวลาวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ออกมาโบกธงชาติ 5 ประเทศต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม บางช่วงประชาชนชาวลาวก็ออกมาใส่บาตรข้าวสาร อาหารแห้ง และถวาย “น้ำปานะ” แก่พระสงฆ์

ในระหว่างที่เดินทางไกลแทบจะเป็นธรรมเนียมของ “ขบวนธรรมยาตรา” ที่ต้องมีการบรรยายธรรมะให้ความรู้แก่ฆราวาส รวมถึง “สื่อมวลชน” จาก 5 ประเทศที่ร่วมคณะเผยแพร่ข่าวสำคัญทางพุทธศาสนาในครั้งนี้ เปรียบเสมือน “ห้องเรียนธรรมะเคลื่อนที่”

พระเมธีวรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ บอกเล่าถึงความสำคัญของธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ว่าเป็นเสมือนการเดินตามรอยบาทพระศาสดา เป็นการเคลื่อนกองทัพแห่งธรรม และประกาศพระพุทธศาสนาตามเจตนารมณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคนทั้งหลายยังรอความหวัง ความเข้าใจ ความเป็นจริงและนำมาปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ การเดินธรรมยาตราจึงเกิดขึ้นเพื่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

การประกอบพิธีกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญลักษณ์ เช่น “การปลูกหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์” เสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าไปประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งนั้น ต้นโพธิ์จึงได้รับสิทธิพิเศษเสมือนชาวพุทธได้ปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า เช่นการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีของชาวเมียนมา จะทำอย่างปราณีตเสมือนปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า แม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้วยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ ต้นโพธิ์จึงเปรียบเสมือนตัวแทนพระพุทธเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมของพระรัตนตรัยเป็นความยิ่งใหญ่ที่ได้มีต้นโพธิ์มาประดิษฐานในดินแดนลุ่มน้ำโขง เป็นการทำตามรอยบาทพระศาสดา

เมื่อครั้งพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี  ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่ท่านไม่ประสงค์จะปลูกเนื่องจากเห็นว่าแต่ละเมืองมีเจ้าครองนครอยู่แล้ว จึงมีการมอบหมายให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้ปลูก เพราะเป็นพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายในทุกเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเมืองใดเมืองหนึ่ง ทำให้เชตวันมหาวิหารเต็มไปด้วยต้นโพธิ์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพุทธคยา

“การปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์”ตามสถานที่ต่างๆในธรรมยาตรา5แผ่นดินลุ่มน้ำโขง อาจเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีความผูกพันและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป”

“ต้นโพธิ์” ยังสอนว่าทุกอย่างตกอยู่ในสิ่งเดียวกันคือไม่มีอะไรหนีพ้น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

“ใบต้นโพธิ์”เปรียบเสมือนความรัก ความเมตตาที่ไม่มีสิ้นสุด ไม่มีประมาณ

ส่วน “กงล้อธรรมจักร” เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา โดย “ธรรมะ” หมายถึงคำสอน “จักระ” หมายถึงกงล้อ การหมุนกงล้อแห่งธรรมจึงเป็นการประกาศพระศาสนาซึ่งเกิดขึ้นหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้เสด็จยังเมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ณ.ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรม

“กงล้อ” จึงเหมือนหลักธรรมสำคัญที่ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สื่อถึงหลักธรรมขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่ไปในสถานที่ต่างๆ

ทันทีที่ขบวนธรรมยาตราเดินทางถึง สปป.ลาวตั้งแต่แขวงบ่อแก้ว มาจนถึงแขวงหลวงน้ำทา ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นฉันมิตร นางรัศมี มิ่งบุปผา ประธานแนวลาวสร้างชาติแขวงหลวงน้ำทา แสดงความยินดีที่ “ขบวนธรรมยาตรา” เดินทางมาเยือน เพราะไม่เคยมีกิจกรรมเช่นนี้มาก่อน ที่แขวงหลวงน้ำทามี 17 ชนเผ่า วันนี้พร้อมใจกันออกมาต้อนรับขบวนธรรมยาตรา. ที่แขวงหลวงน้ำทามีชาวพุทธจำนวนมาก แม้บางเผ่าจะนับถือ”ผี” ก็ตาม แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะให้อิสระในการนับถือศาสนา

กิจกรรมสุดท้าย “ขบวนธรรมยาตรา” เดินทางมาที่ “วัดพระธาตุชัยมงคลรัตนมิ่งเมือง” แขวงอุดมไซตัวแทนองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว ชี้แจงว่า แขวงอุดมไซให้อิสระในการนับถือศาสนา และยินดีต้อนรับคณะธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง นับเป็นบุญของชาวแขวงอุดมไซที่ได้ร่วมงานบุญใหญ่ ในอนาคตแขวงอุดมไซจะพัฒนาเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

Related Posts

Send this to a friend