PUBLIC HEALTH

ถอดโมเดล “หน่วยแพทย์เคลื่อนที่” ปฏิบัติการแห่งความหวัง ของชมรมแพทย์ชนบท

ชี้ กทม.ต้องปูพรม ตรวจเชิงรุกโควิด ภายใน 14 วันนี้ เชื่อ ลดการแพร่ระบาดได้ และวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ ที่รัฐบาลต้องจัดหาให้เร็วที่สุด

“เราสร้างโมเดลขึ้นมาในรอบนี้ คิดว่าเป็นโมเดลที่สมบูรณ์ และเป็นโมเดลที่ปฏิบัติการไม่ยาก ทำได้ แต่ต้องการหัวใจและต้องการการลงมือจริงในพื้นที่นะครับ ทีมเราเล็กมากนะครับ 500 ชีวิต  ตรวจไป 150,000 คน เจอผู้ป่วย  11% ประมาณ 15,000 คน ถือว่าเยอะมาก จาก 150,000 คนถ้าเราคำนวณถึงผู้คนที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นคนในครอบครัวเขาญาติพี่น้องเขาสัก 10 คนต่อคน เราก็ได้สร้างความหวังให้กับผู้คนเป็นล้านคนนะครับ อาจจะถึง 1,500,000 คน ที่เขาได้รับจากปฏิการในครั้งนี้ โดยใช้คนเพียง 500 คน ใช้ทีมจากภูธรเพียง 41 ทีม ซึ่งผมคิดว่ามันมีความหมายมากเลย เป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นว่าการลุกขึ้นมาของคนเล็กคนน้อย แล้วก้าวข้ามขอบเขตทางภารกิจพรมแดน ซึ่งไม่ได้คิดว่าพรมแดนของเรา คือต่างจังหวัด หรืออำเภอของเราเท่านั้น แต่ลุกขึ้นมาก้าวข้ามพรมแดนเหล่านี้” นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงความสำเร็จของ ภารกิจบุกกรุงครั้งที่ 3 ของชมรมแพทย์ชนบท ตั้งแต่วันที่ 4-10 ส.ค 64 พร้อมถอดโมเดลการตรวจเชิงรุกที่น่าสนใจ

“เรามาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกมา 6 ทีม เป็นทีมจรยุทธ อย่างยิ่งที่มาครั้งแรก มาด้วยความรู้สึกที่อยากช่วยผู้คนในกรุงเทพ ที่ไปต่อคิวยาวตรวจโควิดที่วัดพระศรีและคนตายที่บ้านจำนวนนึงที่ออกข่าวกัน จากครั้งแรกที่เป็นกลุ่มจรยุทธ มาเร็ว 3 วัน เราก็พบตัวเลขผู้ติดเชื้อ 9-10 % ก็นำมาสู่การบุกกรุงครั้งที่ 2 นะครับ ครั้งที่ 2 มากัน 16 ทีม รวม2 ครั้งเราตรวจผู้ติดเชื้อไป 5 หมื่น 2 ครั้งแรกนะครับ แล้วเราก็กลับไปตั้งหลัก คิดว่าภารกิจที่เราทำเนี่ยน่าจะมีครั้งที่ 3 ก็เลยกลับไปตั้งหลัก”

นพ.สุภัทร เปิดเผยว่า การตั้งหลักครั้งนี้ก็มีความหมายมาก คือ จัดระบบหลังบ้าน เพราะการจะบุกกรุงได้ระบบที่สำคัญที่สุดก็ คือ ระบบหลังบ้าน ในการเตรียม ในเรื่องของชุดตรวจให้เพียงพอ เตรียมระบบ โมเดลของให้ชัด  การมาครั้ง 3 คือ โมเดลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ก็คือตรวจเจอ Positive แล้วต้องรักษาเลย Same day ก็คือ Tast & Treat same day ตรวจเจอแล้วรักษาเลย เพราะว่าข้อจำกัดของกรุงเทพที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีเตียงเลย เตียงในโรงพยาบาลไม่มีเลย ICUไม่มีเลย 

“ถ้าเราไม่รักษาเขาในวันนั้น เราอาจจะไม่ได้รักษาเขาอีกเลย งั้นเราก็จะจ่ายยาและนำเข้าสู่ Home Isolation ซึ่งอันนี้ก็มีอุปสรรคพอสมควร และเราก็ได้ประสานจนได้วัคซีนมา ก็ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึง ซึ่งยังมีอยู่จริงในชุมชนแออัด นอนติดเตียง ติดบ้าน เดินไม่ไหว กลัววัคซีน แต่พอเราบุกเข้าไปฉีดในชุมชนเนี่ย เขาก็ยินดีนะ จากที่กลัวคุยไปคุยมาก็ไม่กลัวแล้วนะ เพราะว่าพอเขาได้ข้อมูลจากเราเขาก็ยินดีฉีด เป็นต้น”

นพ.สุภัทร เห็นว่า เป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นว่าการลุกขึ้นมาของคนเล็กคนน้อย แล้วก้าวข้ามขอบเขตทางภารกิจพรมแดน ซึ่งไม่ได้คิดว่าพรมแดนของเราคือต่างจังหวัดหรืออำเภอของเราเท่านั้น แต่ลุกขึ้นมาก้าวข้ามพรมแดนเหล่านี้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือผู้คนโดยไม่ได้ดูว่าเขาเป็นคนสัญชาติไหน เป็นคนมีบัตรประชาชน 13 หลักหรือไม่ เราก็ดูแลทุกคนให้มากที่สุด ไม่จำกัดเวลาราชการ ทำจนเสร็จ ในเมื่อเขามารอแล้ว เย็นย่ำก็สู้กันไป ใครเหนื่อยกพัก เหนื่อยก็ถอดชุดหายใจ กินน้ำกินท่า ครึ่งชั่วโมงดีขึ้นก็ใส่ชุดกลับมาใหม่ 

“ผมเองยังไม่ไหวตั้ง 2-3 รอบนะต่อวัน ในช่วงวันท้ายๆ เนี่ยเริ่มไม่ไหวละ เราก็ถอดชุด พอดีขึ้นกก็ลับมาใหม่ สลับกันพัก เื่อทำภารกิจของเราให้ดีที่สุด เพราะเป็นภารกิจที่เรารู้สึกว่าเราสามารถใช้ความรู้ทางวิชาชีพของเราดูแลเขาได้จริงๆ และที่สำคัญคือเขาได้รับยานะ อันนี้สำคัญมากครับ ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์การตรวจ ตรวจแล้วรู้และก็ไปดูแลตัวเอง ซึ่งอันนี้ไม่พอ ซึ่งท่ามกลางการระบาดหนักของโควิดแบบนี้ แล้วผู้คนที่ติดโรคนี้เป็นผู้สูงอายุจำนวนมาก คนมีโรคเรื้อรังจำนวนมาก เป็นเด็กในชุมชนเป็นคนท้อง ซึ่งต้องการการดูแลทางการแพทย์ด้วย งั้นการได้ยาฟาริพิราเวียในทันทีที่เขาตรวจเนี่ยเป็นโมเดลที่สำคัญมากเลยและสามารถเป็นโมเดลของประเทศได้นะครับ”

นพ.สุภัทร เห็นว่า อนาคตต่างจังหวัดก็คงทำเช่นนี้ ดูภาพรวมของกรุงเทพ เมื่อดูสถิติในช่วงที่เป็นที่ราบสูงขาขึ้นก็ขึ้นเต็มที่แล้ว 10 – 20% แล้วก็ช่วงนี้ก็ 10% ก็คงระบาดช่วงนี้ไปอีกช่วงนึง ตอนนี้ถ้าได้วัคซีนมาเยอะและมาเร็วและได้ฉีดกันเต็มที่ ไม่เฉพาะในกรุงเทพ รวมถึงต่างจังหวัดด้วย ก็จะทำให้อัตราการระบาดลดลง ไม่งั้นกรุงเทพก็คงดีขึ้นอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ดีขึ้นจากการติดเชื้อถ้วนหน้า ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะเราเข้าไปในชุมชนเราพบว่า อัตราการติดเชื้อถ้วนหน้าจะสูงอยู่มาก บางที่ติด 20% นะ บางที่ 15% 18% แล้วก็ติดกันอย่างหนักในครอบครัวแล้วก็ลามไปยังครอบครัวอื่นๆ ถ้าไม่มีวัคซีนมาช่วยก็ยากมากที่อัตราการระบาดจะลดลง ต่างจังหวัดก็กำลังขาขึ้น เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าปฏิบัติการของเราเป็นปฏิบัติการที่ช่วยดับไฟเฉพาะหน้าแต่ในระยะยาวหัวใจก็ยังเป็นเรื่องของวัคซีนซึ่งอันนี้ก็เป็นภารกิจที่ทางรัฐบาลต้องเร่งรัดจัดหาให้มากที่สุด 

“ผมคิดว่าผู้คนทั้งประเทศ รัฐบาลเอง สบค.กทม.เอง ฝ่ายความมั่นคงหรือตัวกทม.เอง กระทรวงสาธารณสุขเอง ทุกคนก็เห็นโมเดล ทุกคนรับทราบทุกคนเข้าใจ แล้วก็ดูเหมือนว่ามีความตั้งใจนะที่จะทำในลักษณะนี้แต่แน่นอนระบบราชการก็จะมีความอุ้ยอ้าย มีความล่าช้าของระบบ ซึ่งก็รอดูนะ และก็ช่วยกันเพื่อให้เกิดระบบเหล่านี้ขึ้นมาในกรุงเทพจากคนในกรุงเทพเอง จากหน่วยราชการหรือผู้เกี่ยวข้องในกรุงเทพเอง เราก็ต้องกลับไปทำงานให้จังหวัดให้อำเภอของเราเพราะว่าในต่างจังหวัดก็กำลังขาขึ้นเช่นเดียวกัน เราก็คาดหวังให้กรุงเทพมหานครและภาคส่วนหลายๆ ภาคส่วนในกรุงเทพต้องช่วยกันลงมือเลย อย่าคิดนานในการปกป้องกรุงเทพ สิ่งที่เราทำคิดว่าไม่ได้ซับซ้อนนะครับ เป็นโมเดลไม่ได้ซับซ้อนเลย เป็นโมเดลพื้นฐานของการควบคุมโรค แต่สิ่งที่ต้องการก็คือลงมือเลย ลงมือทำ”

เมื่อถามว่า ทีมแพทย์ชนบทจะไม่มาแล้วหรือ นพ.สุภัทร เปิดเผยว่า อาจจะกลับมาอีก แต่ขอกลับไปทำภารกิจของเราในพื้นที่ก่อน ถ้าโมเดลนี้เกิดขึ้นโดยกรุงเทพมหานครและทีมในกรุงเทพเองก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ยั่งยืนที่สุด ก็ทีมภูธรก็อาจจะมาแต่มาเป็นตัวช่วย

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานแพทย์ชนบท ในฐานะ ผู้อำนวยการ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าโมเดลการทำงานของแพทย์ชนบท จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นแนวทางใหม่อะไรเลย เป็นแนวทางที่บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคใช้กันอยู่ที่เรียกว่า “หน่วยแพทย์เคลื่อนที่” เข้าไปถึงพื้นที่ที่ประชาชนยากลำบากแล้วก็เป็นปฏิบัติการที่ทำแบบเบ็ดเสร็จในครั้งเดียวทั้งในเรื่องของการป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลรวมถึงการรักษาสุขภาพ บทเรียนนี้ก็ออกมาจากแนวปฏิบัติเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากการระบาดของโรคโควิดมันเร็วและมันแรงจะใช้วิธีการเดิมๆแบบตั้งรับอย่างเดียว รอให้มีการป่วยแล้วมารักษาพยาบาลคงจะเป็นไปได้ยากในการควบคุมโรคแล้วก็ดูแลประชาชนที่เจ็บป่วย 

“ในขณะเดียวกันผมมองว่าโควิดมันไม่เหมือนโรคทั่วไป  ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของความเป็นบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียวแต่มันต้องใช้คนทุกคนทุกองคาพยพมาช่วยกัน  ผมมองว่าในวันนี้เนี่ยมันสะท้อนบางอย่างที่เราเห็นเป็นอุปสรรคก็คือความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนยังมีน้อยเกินไป เพราะฉะนั้นยุทธการหรือกลวิธีที่ ผมจะใช้ที่ผมอยากจะใช้คำว่าทำทันที ทำทุกที่ แล้วทำทุกคน มันต้องเกิดขึ้นได้แล้ว 

นพ.อารักษ์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้เราเห็นได้ทั่วไปหรือว่าปรากฎการณ์ที่มาตรวจทั้ง 3 รอบ สถานที่ที่เราไปใช้ให้ประชาชนมารอตรวจเนี่ยจะเป็นสนามโล่งๆ เป็นเต็นท์อากาศร้อนอบอ้าว ไฟไม่มีจะเสียบปลั๊กก็ไม่มี พัดลมสักตัวก็ยังไม่มี ฝนตกฟ้าร้องก็อาศัยเพิงของอาคารด้านนอก อันที่พอจะดูดีหน่อยก็มีแต่วัดเท่านั้นแหละครับ และปรากฎการณ์ที่สะท้อนภาพที่บอกว่า เป็นปฏิบัติการเห็นความหวังของผู้คนก็คือว่าในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ครั้งก่อนเรามาจะเห็นว่าผู้คนเดือดร้อนกันมากเลย หาที่ตรวจไม่ได้ ตายอยู่กับบ้านหรือล้มนอนอยู่ตรงทางเดิน อดไม่มีอาหารจะกิน โทร 1330 ไม่มีคนรับ รับแล้วไม่รู้เรื่องไม่รู้ว่าตัวเองจะได้รับการช่วยเหลืออะไรเหล่านี้เป็นต้น โยนกันไปโยนกันมา หน่วยงานราชการต่างๆ ปฏิเสธการใช้อาคารสถานที่ของทางราชการเพื่อปฏิบัติการให้ประชาชนเนี่ยปลอดภัยมีน้อยมากเลย 

“สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนปัญหาว่าวันนี้นะ ยุทธการที่บอกว่าทำทันที ทำทุกทีและทำทุกคนน่ะในประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นเลย ผมคิดว่าเราแก้ปัญหาการระบาดของโรคไม่ได้ การจัดการในเชิงระบบของการตั้งรับการรักษาพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยใช้โรงพยาบาลเป็นฐานมันไม่ทันต่อสถานการณ์ของการระบาดที่มันไปด้วยความรวดเร็วและรุนแรงแล้ว เพราะฉะนั้นแผนหลักน่าจะเป็นเรื่องของการดูแลที่บ้าน แล้วถ้าที่บ้านไม่สามารถที่จะมีปัจจัยและสิ่งแวดล้อม ทุกชุมชนต้องมีสถานที่พักคอยของตัวเอง ทุกตำบลต้องมี ทุกเขตต้องมีและมีมากพอด้วยและถามว่าสิ่งเหล่านี้เราขายหรือเปล่าในประเทศไทย เราไม่ได้ขาดเลย เราไม่จำเป็นต้องไปตั้งโรงบาลสนามใช้งบประมาณมากๆ แบบเมืองจีน แต่ทุกคนต้องเสียสละ ทุกคนต้องก้าวข้ามความกลัว กลัวว่าจะมีโรคไปติดในสถานที่ของตนเอง ไปติดในโรงเรียน ไปติดในสถานที่ราชการเหล่านี้เป็นต้น แล้วถามว่านี่คือทรัพยากรของชาติใช่ไหม ทำอะไรกันอยู่ ผมตั้งคำถามแบบนี้นะครับ ลองไปดูตามภูมิภาคเราสามารถขยายโรงพยาบาลสนามได้พอสมควรแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหานะมีปัญหาเช่นกัน  แต่มัน้อยกว่า มันน้อยกว่ากรุงเทพมหานคร วันนี้เรามีแต่บุษราคัม เรากำลังจะไปใช้สุวรรณภูมิ เรามีสุวรรณภูมิอีกสักที่สองที่ก็ไม่เพียงพอครับ ถามว่าไปอยู่ที่นั่นประชาชนก็เดือดร้อนอีกมหาศาลเลยครับไหนลูกเต้าไหนพ่อแม่ใครดูแล สิ่งเหล่านี้เราควรจะรีบปรับวิธีคิด เขาเรียกว่าเปลี่ยน Mine set นะครับ ออกมาได้แล้ว”

นพ.อารักษ์ เห็นว่า บทเรียนของแพทย์ชนบท การที่ใช้คำว่าแพทย์ชนบทไม่ได้หมายความถึงวิชาชีพแพทย์แต่ คำว่าแพทย์หมายถึงหมอที่รักษาและเยียวยาผู้คนไม่ว่าทุกคนมาไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ พนักงานขับรถ นักกายภาพ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์  ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือวิชาชีพแพทย์ ทุกคนคือแพทย์ แพทย์ผู้เยียวยารักษาผู้คน หรือแม้แต่ภาคประชาชน ก็คือแพทย์ผู้รักษาผู้เยียวยาผู้คน 

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการ รพ.สิชล อดีตประธานแพทย์ชนบท 

“เพราะฉะนั้นเบทเรียนครั้งนี้มันสะท้อนว่าเราช้าต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์ของการระบาดของโรค  แพทย์ชนบทเสนอยุทธศาสตร์ 4RT Rappit respons team”

การบริการแบบเบ็ดเสร็จของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จะต้องมีหลักการสำคัญอยู่ 4 ประการ 

ประการที่หนึ่งค้นหารูปให้เร็ว ฉับไวแล้วจะต้องได้ว่าใครเป็นบวกใครติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ 

ประการที่สองTime line ที่เราทำกันทั่วไปไม่ทันแล้ว เพราะว่าโรคมันเป็นเยอะแล้วแต่เรารู้ว่าการระบาดที่สำคัญที่สุดใกล้ชิดที่สุดคือในครอบครัวหรือในสถานที่ทำงานที่อยู่ร่วมกันประชุมร่วมกัน เพราะฉะนั้นการค้นหาผู้สัมผัสโรคเนี่ยเข้าสู่ระบบการตรวจให้เร็วนั้นเป็นปัจจัยความสำเร็จอันที่สอง 

ประการที่สาม ก็คือเรื่องของการรักษาพยาบาลที่เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเจอผู้ป่วยรักษาทันทีเหมือนเราออกมาแพตเทิร์นที่เราจ่ายอย่าผู้คนได้เยอะแยะมากมาย และทำให้เขาสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเขาได้ อันนี้เช่นเดียวกันการรักษาพยาบาลโดยการดูแลแบบหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เนี่ยมันสามารถเยียวยาลดปัญหาลดความรุนแรงของผู้ป่วยลดการใช้เตียงได้มากและ

ประการที่สี่ ก็คือในเรื่องของ Rappit target vaccination แล้วลงถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่ม กลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปสู่จุดฉีดวัคซีนแบบเดิมๆ ได้ เพราะฉะนั้นปฎิบัติการในครั้งนี้เนี่ยมันถอดบทเรียนหลายอย่างที่น่าจะนำไปเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศได้ แล้วก็มันก็จะทำให้การระบาดของโรคเนี่ยมันคลี่คลายไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend