BUSINESS

ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ป้องกันการรุกป่า เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืช เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระบบนิเวศวิทยา และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศ ทำให้เกิดระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว และสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรที่มาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบเท่านั้น

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่สนับสนุนให้คู่ค้ามีส่วนร่วมในระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อความแม่นยำและโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยยกระดับ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” (Corn Traceability) มาใช้ตั้งแต่ปี 2559 และได้ขยายผลไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดย ซีพีเอฟ และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกาศรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากแหล่งผลิตที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องในเขตประเทศเมียนมา ภายใต้ระบบตรวจสอบย้อนกลับเท่านั้น ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา  

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแหล่งผลิต เพิ่มคุณค่าสินค้าเกษตร และธุรกิจการค้าสินค้าเกษตรแปรรูปสู่ผู้บริโภคในระดับโลก ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ซีพีเอฟ กล่าวว่า การประกาศรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง และใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นการยืนยันเจตนารมย์การจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรที่มาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีฐานข้อมูลในระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง และได้ติดตั้งระบบ GPS Tracking บนรถขนส่งทุกคัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อใช้ในติดตามข้อมูลแบบ real time สำหรับการขนส่งข้าวโพดเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟในเขตประเทศไทยได้ครบ 100% ทำให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับมีความแม่นยำและโปร่งใสยิ่งขึ้น ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ผ่านโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้สมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตลดลง พัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพสามารถขายตรงให้กับโรงงานอาหารสัตว์ได้ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกที่ถูกต้อง การวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมีที่เหมาะสม รวมทั้งกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิต โดยในปี 2563 นี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด อ.สีคิ้ว และ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าส่งเสริมเกษตรกรทั้งสิ้น 1,000 ราย พื้นที่เพาะปลูก 30,000 ไร่

ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำโครงการ ความร่วมมือพัฒนาคู่ค้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่งของนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend