BUSINESS

นักวิจัยรุ่นใหม่ พัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่ออนาคต

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างชื่อ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันนวัตกรรมอาหารจากพืช ระดับภูมิภาคอาเซียนปี 2564 (Asean Food Innovation Challenge 2021) พัฒนานวัตอาหารเพื่อสุขภาพรับเทรนด์อาหารในอนาคต

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือ ProVeg Asia ร่วมสนับสนุนและให้คำปรึกษา (Coaching) แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารในอนาคต 2 ทีม คือ ทีม Food Tech Chula จากแนวคิดนวัตกรรมอาหาร “The Marble Booster” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ และทีม TempMie จากประเทศอินโดนีเซีย ได้อันดับที่ 2 นำเสนอแนวคิด “Asean Fusion yet Functional Food” ภายใต้เป้าหมายที่ซีพีเอฟกำหนด คือ การพัฒนานวัตกรรมอาหารที่มาจากพืช “Plant-based Innovation” มีผลงานทีส่งเข้าร่วมแข่งขัน 125 ชิ้น จากมหาวิทยาลัย 54 แห่ง ใน 13 ประเทศ

ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ทั้งสองทีมมีความมุ่งมั่นสูงและรับฟังคำแนะนำจากทีมเมนเตอร์เป็นอย่างดี สามารถนำคำแนะนำที่ได้รับไปต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว และประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมเพื่อการผลิตผลงานได้จริงในอนาคต ในส่วนของทีม Food Tech Chula ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ เป็นทีมที่มีการประสานความเชี่ยวชาญของแต่ละคนได้อย่างลงตัว นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมเนื้อเทียม The Marble Booster ได้อย่างสร้างสรรค์ และมีคุณสมบัติพิเศษในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วนทีม TempMie จากประเทศอินโดนีเซีย ได้อันดับที่ 2 นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพสำหรับ vegan (instant vegan noodle) ที่ทำจากแป้งถั่วเหลืองหมักแบบพื้นเมืองอินโดนีเซีย (Tempeh powder) สารสกัดเข้มข้นจากดอกไม้ Kecombrang และน้ำซุปเห็ดหอมชิตาเกะของญี่ปุ่น (Shiitake Broth) เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของอินโดนีเซียเข้ากับญี่ปุ่น

“ทุกคน กล้าคิด กล้าพูด กล้าลงมือทำและพร้อมค้นหาความจริง ซึ่งเป็นคุณลักษณะของนักวิจัยรุ่นใหม่ นอกจากแนวคิดของนักวิจัยกลุ่มนี้จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเรื่องโปรตีนเนื้อสัตว์จากพืชแล้ว ยังเป็นนวัตกรรมอาหารสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19” ดร.ลลนา กล่าว

ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ

สำหรับทีมชนะเลิศอันดับที่ 1 Food Tech Chula เป็นการรวมตัวกันของนิสิตปริญญาเอก คือ นายนุติ หุตะสิงห และ นางสาววรัญญา เตชะสุข และนิสิตปริญญาโท คือ นายณัฐชนน สร้างสมจิตร์ จากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายนุติ กล่าวว่า The Marble Booster เป็นการนำเสนอแนวคิดการผลิตเนื้อเทียม (Meat Analogue) จากพืช 100% มีลักษณะโครงสร้างเป็นใยคล้ายกล้ามเนื้อสัตว์ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นรูปจากโปรตีนถั่วเหลือง และมีชั้นไขมันที่ผลิตจากน้ำมันคาโนลา สารสกัดจากขมิ้นชันและพริกไทดำแทรกอยู่ในชิ้นเนื้อ กลายเป็นเนื้อลายหินอ่อน เป็นการเลียนแบบเนื้อวากิว ที่สำคัญช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากสารประกอบเคอร์คิวมิน (Curcumin) จากขมิ้นชัน และพิเพอรีน (Piperine) จากพริกไทดำ สารทั้งสองตัวนี้เมื่อยู่รวมกันจะให้ฤทธิ์เสริมกัน (Synergistic effect) ในการเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งยังไม่มีบริษัทผู้ผลิตอาหารในโลกนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับผลิตอาหารจริง ./

Related Posts

Send this to a friend