BUSINESS

กัญชามหาชน … จากพืชต้องห้ามสู่พืชเศรษฐกิจ

ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องอาหารสุขภาพที่ทำมาจากสมุนไพร และอุดมไปด้วยยาสมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆ หากเรามาลองเทียบคำว่า “สมุนไพร และ กัญชา” ใน Google Trends ตลอดระยะเวลา 90 วันที่ผ่านมา เรียกได้ว่าตีคู่กันมาเลยทีเดียว คำว่ากัญชา ยังมีการค้นหากันทั่วทุกจังหวัดอีกด้วย โดยจังหวัดที่ผลรวมมาแรงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้แก่จังหวัดอุทัยธานี สิงห์บุรี มุกดาหาร ตามลำดับ หากลองค้นหาโดยกำหนดระยะเวลา 1 วัน ก็จะเห็นผลลัพธ์ว่ามีคนค้นหา กัญชา ใน Google search ทุกจังหวัดเช่นกัน

แม้การปลดล็อคการปลูกกัญชาที่สมบูรณ์กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งเป็นที่สนใจของทั้งประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าประชาชนทั่วไปจะยึดหลักเสรี ต่างคนต่างปลูกได้เลยในวันนี้ พอวันที่ 9 มิถุนายน จะได้เก็บเกี่ยว ถ้าเข้าใจแบบนั้นผิด อย่างไรก็ตามในระหว่างการนับถอยหลังนี้หากประชาชนจะปลูก จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้ถูกหลักการเดิมเสียก่อน หรือไม่ก็รอในวันที่ 9 มิถุนายนไปเลย แล้วค่อยลงมือปลูก จะได้เป็นไปตามกฎหมาย โดยประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ สร้างรายได้ในครัวเรือน ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในการเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 12 ว่า “กว่าเราจะเปลี่ยนกัญชาจากสีดำให้กลายเป็นสีขาวได้ ใช้เวลาและความทุ่มเทกันอย่างหนัก จากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ขอให้ใช้กัญชากันอย่างระมัดระวัง ใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่านำกัญชากลับไปสู่เส้นทางที่ผิด”

เพราะกัญชาตามความตั้งใจของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันให้อนาคตของกัญชาจะไม่ต่างจากข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ และจากข่าวที่แพร่สะพัดจนเกิดเป็นเทรนด์ผลิตภัณฑ์จากกัญชาอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงปัญหากัญชาล้นตลาดในสหรัฐอเมริกาในก่อนหน้านี้ ทำให้หลายคน หลายกลุ่มวิตกว่า ในอนาคตกัญชาจะล้นตลาด สร้างความลำบากให้กับเกษตรกรที่ไม่สามารถขายผลิตได้ หรือขายได้ในราคาถูก เหมือนกับที่ประเทศไทยเคยประสบมาก่อนเช่น ทุเรียนล้นตลาด ลำไยล้นตลาด ยางพาราล้นตลาด หรืออีกมากมาย แม้ว่าในสหรัฐ  แต่ก่อนจะมากังวลเรื่องกัญชาล้นตลาด ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ในประเทศไทยก็เป็นอีกอีกรูปแบบหนึ่ง การยอมรับและการเปิดกว้างในการบริโภคก็ต่างกัน

เท่าที่รู้กันในประเทศไทยกัญชาสามารถนำไปแปรรูปและเป็นส่วนผสมได้หลากหลายมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น…

การป้อนเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นยา ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศที่มีความสามารถในการผลิตยาจากกัญชาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอื่นๆ และยังมี คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน ที่จะรองรับยาเหล่านี้ ไม่นับรวมว่าหากในอนาคตสามารถวางบนชั้นวางตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า

อาหาร ปัจจุบันมีร้านอาหาร มากมายที่ปรับสูตรอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา และกัญชง ไม่ว่าจะเป็น เอาใจสายเขียวแบบฮารด์คอร์ ทั้งใบกัญชาชุบแป้งทอด น้ำพริกกัญชา แกล้มกับผักสดรวมถึงใบกัญชา ต้มยำไก่ที่มาพร้อมใบกัญชา ไม่ว่าจะพัฒนาสูตรแบบไหน ต้ม ผัด แกง ทอด หอมอร่อยในพริบตา เรียกได้ว่ากัญชาเป็นมิตรกับ “ทุกเมนู” แม้แต่ขนมครกสัญชาติไทย หรือครัวซองต์สัญชาติฝรั่งเศส พิซซ่าอิตาเลี่ยน เชื่อเถอะว่ามีนับพันเมนู ที่กัญชาสามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แม้แต่เมล็ดกัญชงก็สามารถนำไปใช้แทนถั่วเหลือง เช่น การทำเต้าหู้ โปรตีนเกษตร เนยแข็ง น้ำสลัด ไอศกรีม นม และยังสามารถนำเมล็ดมาทำเป็นแป้ง สำหรับทำพาสต้า คุกกี้ ขนมปังได้ด้วย ประเทศไทยนับได้ว่ามีความหลากหลายด้านอาหาร หรือจะเรียกว่าเป็นแหล่งชุมนุมของอาหารนานาชาติเลยก็ว่าได้

 เครื่องดื่ม เรียกได้ว่าอินเทรนด์กันเลยทีเดียว เครื่องดื่มสำหรับคนรักสุขภาพยุคใหม่ มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อตอบความต้องการของตลาด ของผู้คนที่อยากอารมณ์ดี  ซึ่งตอนนี้ก็มีผุดขึ้นมาทั้งเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ แบรนด์ชาวบ้าน มีตั้งแต่ น้ำอ้อย น้ำผลไม้ น้ำผสมวิตามิน ค็อกเทล ชา กาแฟ ไปจนถึงโซจูก็มีนะแบบไร้แอลกอฮอล์ด้วย (ประเทศไทยสุดยอดครีเอทีฟ) เกาหลียังตะลึง กวาดรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนเป็นกอบเป็นกำ

เครื่องเทศ ถูกนำมาทำเป็นเครื่องเทศได้ เริ่มมีผงปรุงรสแบบผสมกัญชา และผงใบกัญชาขายกันแล้ว

เครื่องสำอาง ส่วนมากมาจากน้ำมันจากเมล็ดกัญชง อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผิวกาย และเส้นผม และเครื่องสำอางที่ได้ทั้งจากใบกัญชาและกัญชง อาทิ สบู่ แชมพู ซึ่งปัจจุบันมีการผ่านอนุมัติจากองค์การอาหารและยา และสาธารณสุขจังหวัดอนุมัติไปแล้ว 218 ตำรับ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2564)

สิ่งทอ ชาวไทยภูเขานิยมนำเส้นใยพืชสกุลกัญชามาใช้ประโยชน์ในการทอผ้า ตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ทอเป็นถุงย่าม ใช้เส้นใยทอเป็นเชือกเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน

กระดาษ กัญชาก็สามารถเอามาทำได้ อาจจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งในยุค paperless และการแชทเฟื่องฟู ไม่แน่อาจเป็นช่องว่างของกลยุทธ์ใหม่ในการให้คนกลับมาเขียนจดหมายก็เป็นได้ หรือหนังสือที่เน้นเสียงฮาอาจลองมาทำเล่มลิมิเต็ดอิดิชั่นจากกัญชาก็ได้

แม้กัญชาจะเป็นเมกะเทรนด์ในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่ผลิตภัณฑ์ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทั้งอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ขาดแค่ที่พักอาศัย ก็จะครบองค์ประกอบของปัจจัยสี่กันเลยทีเดียว สุดท้ายกัญชาจะล้นตลาดหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับเจ้าของแบรนด์ที่จะสร้างสรรค์ผลงานและผลิตภัณฑ์ พร้อมกับการงัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาแข่งได้ตรงความต้องการของตลาดมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยพอจะอนุมานได้คร่าวๆ ว่าน่าจะอีกไกลกว่าวัตถุดิบกัญชาจะล้นตลาด

Related Posts

Send this to a friend