BUSINESS

แรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ค้านควบรวม “ทรู-ดีแทค”

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมทรูและดีแทค ถึงประธาน กสทช. โดยมีนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้แทนรับมอบ

นายประสาน จ่างูเหลือม ประธานกลุ่มผู้นำแรงงาน บริษัท NT ในฐานะตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และจะส่งผลให้ตลาดธุรกิจสื่อสารมีสภาพกึ่งผูกขาด โดยทั้รัฐและบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะได้รับผลกระทบจากการควบรวม ดังนี้

1.สูญเสียรายได้เงินปันผลจาก NT ที่ถือหุ้นดีแทค ราว 200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการบริหารงานของทรูกับดีแทคมีความแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเทียบผลประกอบการ 5 ปี ย้อนหลัง ดีแทคมีกำไรเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทรูบริหารงานแบบไม่มีกำไร และมีงบการเงินที่ติดลบมาโดยตลอด คาดว่าเมื่อเกิดการควบรวมแล้ว การบริหารงานของทรู จะส่งผลกระทบให้ผู้ถือหุ้นไม่มีเงินปันผลเหมือนที่เคยถือหุ้นดีแทคอีกต่อไป และหากนับย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ดีแทคให้เงินปันผล NT แล้วมากกว่า 1,200 ล้านบาท

2.สูญเสียรายได้ค่าเช่าเสาจากดีแทคราว 1,900 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูมีกองทุน Infra Fund ซึ่งมีเสาที่ให้บริการโทรคมนาคมจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องเช่าใช้เสาของ NT ต่อไป

3.สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการโรมมิ่งของดีแทคในโครงข่าย 2300 MHz ราว 4,500 ล้านบาทต่อปี หากเมื่อควบรวมธุรกิจกันแล้วเสร็จ จำนวนคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการของทั้ง ทรูและดีแทค จะมีจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศกับ NT ซึ่งคาดว่า ดีแทคจะลดปริมาณการโรมมิ่ง หรืออาจถึงขั้นยุติการโรมมิ่งในโครงข่าย 2300 MHz ของ NT ทำให้ NT สูญเสียรายได้จากการให้บริการจากสัญญาดีแทค 4,500 ล้านบาทต่อปี

4.สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการซื้อความจุโครงข่าย 850 MHz ของเรียลมูฟ (บริษัทในเครือทรู) ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูและดีแทคจะมีคลื่นจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความจุโครงข่าย 850 MHz ของ NT อีกต่อไป

ส่วนผลกระทบจากการควบรวมที่มีต่อประชาชน คือ เมื่อสภาพตลาดไม่มีการแข่งขันเนื่องจากเหลือผู้เล่นน้อยรายจะทำให้ไม่อาจใช้กลไกทางการตลาดเป็นตัวบริหารจัดการผู้เล่นในตลาดได้ ค่าบริการอาจสูงขึ้น คุณภาพของการให้บริการอาจแย่ลง ไม่มีการแข่งขันด้านราคาหรือปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดีอยู่เสมอ เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ไม่ให้ย้ายค่าย ขณะที่การศึกษาเบื้องต้นของสำนักงาน กสทช. เอง ระบุว่า การควบรวมอาจทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น GDP ของประเทศลดลง

ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT เรียกร้องให้ กสทช.พิจารณาการควบรวมครั้งนี้ อย่างตรงไปตรงมา มองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติเป็นหลัก พร้อมกับย้ำว่า หากเกิดการควบรวมจริง คงถึงจุดจบของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และถึงจุดจบของการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดโทรคมนาคมไทย ซึ่งหาก NT ต้องล้มหายตายจากไปจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมดในประเทศ ก็จะดำเนินการโดยเอกชนแต่เพียงผู้เดียว

Related Posts

Send this to a friend