รมว. อุตฯ หารือ ผู้ว่าฯ วากายามะ ร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม-เอสเอ็มอี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับ นายคิชิโมโตะ ชูเฮ ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอี ของทั้งสองประเทศ ด้านผู้ว่าฯ วากายามะ สนใจดึงภาคเอกชนไทยร่วมลงทุน หวังต่อยอดเชื่อมโยงการยกระดับศักยภาพ ภาคอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น ของทั้งสองประเทศ และว่าคาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น นับว่ามีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลายาวนานถึง 136 ปี ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม การร่วมทุน-ลงทุน และการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศที่มีการเกื้อกูลกัน อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ของไทย ได้มีการผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ร่วมมือกันในทุกๆ มิติ ส่งผลให้เกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่น ในบริบทและรูปแบบที่กว้าง และหลากหลายมากยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้สานสัมพันธ์ผ่านความร่วมมือ กับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น มาอย่างต่อเนื่องในการยกระดับขีดสามารถ ในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และหลักการ BCG Economy เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ รวมถึงความร่วมมือกับจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ในการส่งเสริมและพัฒนา การลงทุนจนเกิดเป็นคู่ค้า รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ร่วมกันของทั้งสองประเทศในอนาคต
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ประเทศญี่ปุ่น ในการยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี ของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น ในลักษณะ Local-to-local ผ่านการลงนามความร่วมมือ MOU ไปแล้ว 23 แห่ง โดยในปัจจุบันมีผู้แทน จากจังหวัดวากายามะ มาประจำที่โต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ตั้งแต่ปี 2562 – ปัจจุบัน เพื่อสร้างเสริมโอกาสในการแลกเปลี่ยน บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตต่างๆ
ตลอดจนการร่วมกันจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจ ในระดับสากล โดยในระยะเวลาประมาณ 4 ปีที่ผ่าน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องเขินกับจังหวัดวากายามะ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิด เทคนิคเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของความร่วมมือ และสะท้อนให้เห็นถึง วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงและต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี
“โดยในปี 2565 ได้ร่วมมือกับจังหวัดวากายามะ จัดงานนิทรรศการเครื่องเขินไทย-ญี่ปุ่น (Kishu Lacquerware) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 (DIPROM Center 1) จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งมีการสัมมนาแลกเปลี่ยน องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญไทย-ญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถ ของผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเครื่องเขิน (Craftsmanship) ร่วมกัน ทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ และเทคนิคต่างๆ โดยงานนิทรรศการดังกล่าว ยังสะท้อนให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยง ของทั้งสองวัฒนธรรมที่โดดเด่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว